สั่งล้อมคอกสินทรัพย์ดิจิทัล คลังจี้สกัดไซฟอน-ศึกษาดึง ธปท.กำกับ

สินทรัพย์ดิจิทัล

ขุนคลังสั่ง ก.ล.ต.ล้อมคอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล-คุมเข้มสกัดไซฟอน เล็งรื้อกฎหมาย ศึกษาดึงแบงก์ชาติร่วมกำกับ จี้เร่งสอบ “ซิปเม็กซ์” หวั่นทำธุรกิจเกินขอบเขต-ไม่รายงานผู้กำกับ เผยผู้เส่ียหายกว่า 1 แสนราย ด้านสำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งความคืบหน้าตรวจสอบ Zipmex จ่อได้ข้อสรุป ลั่นสัปดาห์นี้ส่งหลักฐานพนักงานสอบสวนดำเนินการทางกฎหมาย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัปดาห์ที่แล้วได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปตรวจสอบกรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตใบอนุญาตที่ให้ดำเนินการได้ และไม่ได้รายงานหน่วยงานกำกับอย่างตรงไปตรงมา จนทำให้เกิดความเสียหายต่อลูกค้า ซึ่งพบว่าเสียหายไปประมาณกว่า 1 แสนราย จากที่บริษัทดังกล่าวมีฐานลูกค้าอยู่กว่า 3 แสนราย

 อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

“ได้สั่งให้ ก.ล.ต.ไปดูเรื่องกฎหมาย ว่าบริษัทอาจจะทำไม่ถูก น่าจะทำนอกขอบเขต ทำอะไรที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ หากผิด ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนจะถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตหรือไม่ ต้องรอให้บอร์ด (คณะกรรมการ) ก.ล.ต.ชี้มาก่อน” นายอาคมกล่าว

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า กฎหมายที่กำกับดูแลเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล หรือพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 คงต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากบังคับใช้มาหลายปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ หรือความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลก็เปลี่ยนไปมากแล้ว

“อาจจะต้องรื้อ เพราะกฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งตอนนั้นเรายังมะงุมมะงาหราอยู่ ดูอย่างกรณีประเทศสิงคโปร์ เขาให้แบงก์ชาติกำกับ ไม่ได้อยู่กับ ก.ล.ต. ส่วนของไทยไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้ ธปท.เข้ามาดู ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ตรงนี้ ทั้งนี้ สิ่งที่ชัดเจนก็คือว่า หนึ่ง ทุกประเทศไม่ยอมให้สินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระ สอง การคุมศูนย์ซื้อขายต้องรู้เท่าทัน ต้องตามให้ทัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดการไซฟอนเงินออกไป และสาม ผู้ลงทุนต้องเข้าใจด้วย” รมว.คลังกล่าว

ก่อนหน้านี้ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะดำเนินการกรณี Zipmex ตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา โดยได้ประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และตำรวจไซเบอร์ เพื่อตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด

รื่นวดี สุวรรณมงคล

ทั้งนี้ ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งว่า ความคืบหน้ากรณี Zipmex ทางสำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ รวมทั้งการพิจารณาเอกสารหลักฐาน และทำงานร่วมกับตัวแทนผู้เสียหายอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานได้เข้าพบหารือกับพนักงานสอบสวนในส่วนที่อาจจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ๆ โดยในสัปดาห์นี้ ก.ล.ต.จะเร่งส่งพยานหลักฐาน พร้อมทั้งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสำนักงาน ก.ล.ต. พบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) อยู่ทั้งสิ้น 13 ราย ได้แก่ 1.บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB)

2.บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Satang Pro) 3.บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ERX) 4.บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) 5.บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Upbit)

6.บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Z.comEX) 7.บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) 8.บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด (TDX) 9.บริษัท ที-บ็อกซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (T-BOX) ทั้งนี้ TDX และ T-BOX ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ

โดยก่อนหน้านี้ มีผู้ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไป คือ บริษัท หั่วปี้ (ประเทศไทย) (Huobi) หรือบริษัท ดีเอสแด็ค (ประเทศไทย)