ดอลลาร์แข็งค่า-กังวลดีมานด์จีนชะลอตัว

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์แข็งค่า-กังวลดีมานด์จีนชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยในประเทศ คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.2% สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 3.0% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 4.2%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/8) ที่ระดับ 35.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/8) ที่ระดับ 35.50/52 บาท

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในเชิงแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักเนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแะสถานการณ์เงินเฟ้อโลกที่ยังไม่คลี่คลาย โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.87% สู่ระดับ 106.5450

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐจะเริ่มชะลอตัวลงก็ตาม โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสขยายตัว 2.5% ในไตรมาสที่ 3

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำวันที่ 26-27 กรกฎาคม ในวันพุธนี้ (17/8) รวมทั้งการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 25-27 สิงหาคมนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยจากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 0.25% ต่อปี จาก 0.50% ต่อปี เป็น 075% ต่อปี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง เน้นนโยบายตามข้อสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ดูแลประชาชนทั้งในระดับฐานรากและผู้ประกอการ SMEs ภาคธุรกิจ รวมถึงผู้ส่งออก ให้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้น้อยที่สุด

โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง 7 แห่ง ได้จัดทำมาตรการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชนในช่วงนี้ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ประมวลเศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีกว่าคาด โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.2% สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 3.0% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 4.2%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจาก 5.6% ในครึ่งปีแรกเป็น 6.6% ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6.1% ก่อนจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.0% ในปี 2566 จากการคลี่คลายของภาวะชะงักงันด้านอุปทาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช่วยลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.28-35.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (16/8) ที่ระดับ 1.0155/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/8) ที่ระดับ 1.0197/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0269-1.0269 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0135/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/8) ที่ระดับ 133.40/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/8) ที่ระดับ 133.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.96-134.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่จะมีการรายงานในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ก.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค., ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีการผลิตเดือน ส.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.ค., ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.ค.จากคอนเฟอเรนซ์บอร์ด (Conference Board) เป็นต้น

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.50/-6.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.00/7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ