เลขาฯ คปภ.ชี้โควิดตัวกรองบริษัทประกันอ่อนแอเดี้ยง เงินเจ้าสัวเปลี่ยนมือสู่ประชาชน

สุทธิพล ทวีชัยการ
สุทธิพล ทวีชัยการ

เลขาธิการ คปภ.เผยระบบประกันภัยเยียวยาค่าสินไหมโควิดไปแล้วกว่า 81,800 ล้านบาท จำนวนผู้เอาประกันรวม 1.8 ล้านคน ชี้ผลกระทบโควิด-19 ตัวกรองบริษัทประกันไม่เข้มแข็งอยู่ไม่ได้ เงินเจ้าสัวประกันภัยเปลี่ยนมือสู่ประชาชน หนุนจับจ่ายดันเศรษฐกิจ มั่นใจบริษัทประกันเจ๊งระบบประกันไม่ล่มสลาย เหตุเม็ดเงินไม่หายแต่กระจายไปหาบริษัทประกันที่มีฐานะการเงินมั่นคงแทน

วันที่ 20 สิงหาคม 2565 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ภาคธุรกิจประกันภัยมีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ จนกระทั่งถึงตอนนี้กรมธรรม์ส่วนใหญ่หมดความคุ้มครองไปแล้ว โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ค. 2565 ระบบประกันภัยช่วยเยียวยาค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ประชาชนไปแล้วกว่า 81,800 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้เอาประกันรวม 1.8 ล้านคน

นั่นหมายความว่า “เป็นการนำเงินที่อยู่ในมือของเจ้าสัวประกันภัย เปลี่ยนมือไปสู่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยโควิด โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือเม็ดเงินจำนวนนี้ประชาชนก็นำไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ”

แม้บริษัทประกันวินาศภัยจะเจ๊งไป 4 บริษัท จากการจ่ายเคลมสินไหมเกินตัว แต่ระบบประกันภัยไม่ได้ล่มสลายไปด้วย เพราะลูกค้าของ 4 บริษัทประกันดังกล่าวยังมีความต้องการจะซื้อประกันเท่าเดิม หรืออาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ จากกลัวความเสี่ยงภัยใหม่ ๆ ส่งผลให้เม็ดเงินในระบบไม่ได้หายไปไหน แต่จะกระจายไปสู่บริษัทประกันภัยอื่นที่มีความเข้มแข็งและมีฐานะการเงินมั่นคง ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเหล่านี้ได้

“ผลกระทบโควิด-19 เหมือนตัวกรองบริษัทประกันภัยที่ไม่เข้มแข็งให้อยู่ไม่ได้”

เลขาธิการ คปภ.กล่าวตอนหนึ่งว่า จริง ๆ แล้ว 4 บริษัทประกันวินาศภัยที่ปิดตัวไปนั้น ความซวยเกิดขึ้นจาก 2 เรื่องคือ 1.ยกเลิกประกันภัยต่อตอนต้นปี 64 เพราะเห็นว่าตอนช่วงปี 63 บริษัทประกันวินาศภัยที่ขายกรมธรรม์โควิดทั้งหมดรับเบี้ยโควิดเข้ามา 4,000 ล้านบาท แต่จ่ายเคลมสินไหมออกไปแค่ 100 ล้านบาท และประเมินแล้วหากเคลมเพิ่มขึ้นเป็น 5-7 เท่าก็ยังรับไหว ในขณะที่บางบริษัทยังมีการทำสัญญาประกันภัยต่อไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบเจอจ่ายจบสัดส่วนสูงกว่า 70-80%

“คือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งวิธีการบริหารความเสี่ยงไม่ได้เกิดจากการวิเคราะห์ แต่เกิดจากความรู้สึก ด้วยความเคยชินและประสบการณ์เดิมที่ตัวเองมีอยู่ แต่ผลกระทบโควิดมาเหนือกว่า เหมือนเซียนปราบเซียน”

2.กระหน่ำขาย เพราะคิดว่าสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ได้ โดยอ้างข้อสัญญาในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของบริษัทประกันวินาศภัย จะมีข้อความระบุว่า “การสิ้นสุดความคุ้มครองสำหรับกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยหรือบริษัทบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยตามเงื่อนไขทั่วไป บริษัทต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน”

การบอกเลิกกรมธรรม์ทำได้ สัดส่วนประมาณ 80-90% ต้องเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และถ้าเป็นการบอกเลิกกรมธรรม์แบบเหมารวมต้องทำเป็น case by case ซึ่งเคยมีเคสลักษณะนี้เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้

ซึ่งทีมนักกฎหมายของบริษัทประกันภัยจะดูแค่กฎหมายประกันภัย แต่ลืมพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 โดยบริษัทที่บอกเลิกกรมธรรม์ซึ่งขณะนี้กำลังยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการอยู่ ถือเป็นบริษัทที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ และไม่เคยเข้ามาปรึกษา คปภ.ก่อนเลย โดยแจ้งหนังสือบอกเลิกกรมธรรม์ไปหาผู้เอาประกันเลย จนสร้างความโกลาหลเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงต้องงัดกฎหมายโดยใช้อำนาจนายทะเบียนขึ้นมาสู้

โดยขณะนี้ คปภ.กำลังพิจารณาจะออกประกาศเกี่ยวกับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้ครอบคลุมในตัวสัญญาประกันภัยเพิ่มเติมด้วย โดยน่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้