ฟังแนวคิด “ซีอีโอ” ยักษ์ใหญ่ผ่านหัวข้อสัมมนา Thailand focus 2022

ฟังแนวคิดผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศผ่านหัวข้อสัมมนา Thailand focus 2022

ภายใต้การจัดงาน Thailand focus 2022 ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งนับโอกาสดีที่เหล่าบรรดานักลงทุนจะได้ฟังแนวคิดจากผู้บริหารระดับจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรมและหลากหลายหัวข้อในงานสัมมนาครั้งนี้

โดยภายใต้หัวข้อ “พลวัตการเติบโตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหารของประเทศไทยในเวทีโลก” นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญมากในอุตสาหกรรมอาหาร ทางเดียวที่เราจะแข่งขันในตลาดโลกได้คือการใช้เทคโนโลยี อย่างโรงงานของซีพีเอง ก็นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาประยุกต์ใช้ เช่น ฟาร์มไก่ ก็มีการใช้กล้อง และไมโครโฟนเพื่อฟังเสียงไก่ และสามารถบอกได้ว่าไก่ไม่สบายหรือเปล่า ซึ่งจะช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

ทางด้านนายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของกลุ่มเบทาโกรเช่นกัน มีทั้งการใช้เทคโนโลยี IOT การใช้หุ่นยนต์ โดรน และไบโอเทคโนโลยีในการเกษตร ซึ่งนี่เป็นเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมเกษตรในปัจจุบัน และในอนาคต คุณวสิษฐยังกล่าวอีกว่ายังมีเทรนด์ใหม่ ได้แก่ โปรตีนทางเลือก อาหารเสริม อีคอมเมอร์ซ และความปลอดภัยทางด้านอาหาร

ในส่วนของนายวิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การมาประสานกันระหว่างสุขภาพและอาหารทั่วโลก ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ และบริษัทใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย คุณวิเวกกล่าวว่า เนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น คนเรามีอายุยืนขึ้น และโรคร้ายต่าง ๆ ล้วนมีส่วนทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยคิดว่า เทรนด์ที่มาแรงที่สุดในอีก 5 ปีหลังจากนี้ คือ ความมีสุขภาพดี (wellness) และเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่ทำมาจากพืช หรือวีแกน ที่ช่วยเปิดโอกาสอันดียิ่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก

“บริษัทที่ผลิตอาหารต่าง ๆ ก็หันมาผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และยารักษาโรค เวลาเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต เราจะเห็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะมาก” นายวิเวกกล่าว

ส่วนอีกหัวข้อที่น่าสนใจไม่น้อยอย่างหัวข้อ “ก้าวสู่การเติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรมการ” ในหัวข้อสัมมนานี้ทางด้าน นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับกระแสความยั่งยืนในภาคพลังงาน และแนวคิดและข้อปฏิบัติที่มีต่อสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ว่าธุรกิจของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ คือการผลิตพลังงาน ก่อนหน้านี้ก็ใช้พลังงานจากถ่านหิน แต่ก็มีปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการประท้วงทั้งจากภายในและต่างประเทศ

โดยสารัชถ์บอกว่ามันยากมากที่จะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นบริษัทจึงเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานสะอาด เช่น ก๊าซ นายสารัชถ์บอกว่าแนวโน้มภาคพลังงานจะหันมาใช้วิธีการที่ยั่งยืนมากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งกัลฟ์ฯเองก็กำลังมาในแนวทางนั้นเช่นกัน ขณะนี้กำลังขยายไปในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น

นโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวนั้น ได้แนะนำว่าประเทศไทยจะต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 คือ ต้องเร่งเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของผู้ผลิตรายใหญ่ให้ทุนสนับสนุนเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนรับรองมาตรฐานการปล่อยคาร์บอน

ด้านนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ “BCP 316” ซึ่ง B ย่อมาจาก Breakthrough Performance คือการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพและขั้นตอนการผลิต ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 30%

ส่วน C มาจาก Conserving Nature and Society คือการอนุรักษ์ธรรมชาติและสังคม ซึ่งสามารถทำได้โดยการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการปลูกป่าทดแทน ซึ่งจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ 10% และตัว P ย่อมาจาก Proactive Business Growth and Transition คือการเร่งลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนถึง 60% ถ้าประเทศไทยสามารถทำได้ตามแนวทางนี้ ไทยก็สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ได้อย่างที่ตั้งใจ

ขณะที่นายวิชาญ จิตร์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลักการทำธุรกิจของบริษัท มีการทำเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้อยู่แล้ว โดยเรียกว่า เส้นทาง ESG ที่บริษัทตั้งเป้าไว้จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล

นอกจากนี้ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ หากสังคมมีความเท่าเทียมมากขึ้น โดยการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มทักษะการทำงาน หรือแม้แต่การส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ก็จะช่วยในเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง

“โดยในส่วนของเอสซีจีนั้น ใช้ยุทธศาสตร์ ‘โอบกอดความร่วมมือ (embrace collaboration)’ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อใจ และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยเอสซีจีฯตั้งเป้าว่าจะผลิตแพ็กเกจจิ้งที่รีไซเคิลได้ นำมาใช้ใหม่ได้และย่อยสลายได้ 100% ภายในปี 2025” นายวิชาญกล่าว

นับว่าเป็นหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจอย่างมาก กับมุมมองการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหารที่จะมีความสำคัญมากขึ้นทั่วโลก และความยั่งยืนของการทำธุรกิจแบบยุคใหม่ที่ต้องหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้นักลงทุนได้แนวคิดแลพตัดสินใจเลือกลงทุนในบริษัทที่ตอบโจทย์แนวคิดของตนเองเช่นกัน