ธปท.เตรียมออกแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เน้นปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพ-ลดการกระตุ้นก่อหนี้เกินจำเป็น ห่วงหนี้ครัวเรือนยังสูง 14.6 ล้านล้านบาท กระทบสินเชื่ออุปโภค-บริโภค มีสัดส่วน 28% ล่าสุดเปิด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” หวังช่วยกลุ่มเปราะบางแก้หนี้ ระบุมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกว่า 56 ราย ครอบคลุมทุกประเภทสินเชื่อ
วันที่ 1 กันยายน 2565 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ ธปท.จะมีการออกแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน (Directional Paper) โดยแนวทางเบื้องต้น เพื่อให้การก่อหนี้ใหม่มีคุณภาพ โดยเจ้าหนี้จะต้องคำนึงถึงภาระรายจ่ายและรายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ หรือที่เรียกว่า (Responsible Lending)
และการให้ข้อมูลลูกหนี้อย่างครบถ้วนก่อนจะมีการก่อหนี้ เพื่อให้เกิดวินัยทางการเงิน โดยจะต้องไม่เข้าไปกระตุ้นการก่อหนี้จนเกิดความจำเป็น และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่ง ธปท.จะเข้าไปดูในเรื่องเหล่านี้ แต่การออกหลักเกณฑ์จะต้องดูหลายมิติ และจะต้องไม่ให้เกิดแรงกระแทกต่อลูกหนี้ จนทำให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบไม่ได้ จึงต้องมีการไขหนี้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและขยายตัวเป็นบวกในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา แต่จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1/65 อยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท และหากดูพบว่าสินเชื่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 10% แต่ 2 ใน 3 ที่เพิ่มขึ้นมาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) หดตัวมากกว่า 7% ซึ่งไม่ได้มาจากหนี้ทั้งหมด แต่ก็มี 1 ใน 3 ที่มาจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจริง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้เป็นวงกว้าง ทำให้หนี้สะสมไม่ได้ลดลง และการให้สภาพคล่องกับลูกหนี้ จึงเป็นเหตุผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่ ธปท.ได้ชั่งน้ำหนักระหว่างผลของมาตรการและผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว
ธปท.จึงมีความเป็นห่วงกลุ่มที่มีความเปราะบาง กลุ่มที่มีรายได้น้อยภายใต้การฟื้นตัวเศรษฐกิจแบบไม่ทั่วถึง หรือ K Shaped โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ยังมีปัญหาและต้องการรับความช่วยเหลือ และหากดูประเภทหนี้ พบว่าหนี้บางส่วนช่วยคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ และเป็นเครื่องมือทำมาหากิน แต่ก็มีหนี้บางส่วนที่ ธปท.ให้ความเป็นห่วงและกังวลใจ คือ สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน สินเชื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีสัดส่วนประมาณ 23% ของหนี้ครัวเรือน ซึ่งต้องการรับการแก้ไขและความร่วมมือทุกภาคส่วน
ดังนั้น ธปท.จึงจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ที่ครอบคลุมประเภทหนี้ที่หลากหลาย เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ จำนำทะเบียนรถ และทุกผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) โดยปัจจุบันมีเจ้าหนี้เข้าร่วมตอบรับแล้ว 56 แห่ง และคาดว่าจะมีเจ้าหนี้เข้าร่วมเพิ่มเติม โดยงานจะจัดเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์ จะขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน-30 พฤศจิกายน 2565 และระยะที่ 2 จะเพิ่มมหกรรมสัญจรในกรุงเทพและ 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ
“จากการจัดงานครั้งนี้ ธปท.ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ให้เจ้าหนี้ แต่จะให้เจ้าหนี้มีการพูดคุยกับลูกหนี้เพื่อแก้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งในการจัดงานมหกรรมในช่วงที่ผ่านมาถือว่าได้ผลตอบรับค่อนข้างดี และสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ได้สำเร็จประมาณ 80% จากลูกหนี้ที่เข้าโครงการไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลรวมกว่า 222,164 บัญชี และเช่าซื้อ 9,631 บัญชี ณ 31 ธ.ค. 64”
นายรณดลกล่าวเพิ่มเติม สำหรับการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนในช่วงที่ผ่านมาโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งรายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ และสอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ทั้งการแก้หนี้เดิม ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาพคล่องของลูกหนี้แต่ละราย ที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความยืดหยุ่นรองรับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันแก้ปัญหาหนี้สินให้กับลูกหนี้ทุกประเภทด้วย
โดยปัจจุบันมีลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร (nonbank) ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2565 อยู่ที่ 3.84 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ 340,000 ราย ลูกหนี้ครูที่ได้เข้าร่วมโครงการสร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย กว่า 41,000 ราย ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ กว่า 87,000 ราย
และการเติมเงินใหม่ ผ่านโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน สินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยปัจจุบัน ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2565 มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 133,245 ราย เป็นวงเงิน 324,989 ล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) Re-open ธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain ของโรงแรม โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นต้น
และการให้คำปรึกษา และการให้ความรู้เพื่อเสริมทักษะทางการเงิน ทั้งผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ของ ธปท. และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีลูกหนี้ขอรับคำปรึกษากว่า 4,500 ราย