ดอลลาร์แข็งค่า หลัง ปธ.เฟดแอตแลนตา มั่นใจดึงเงินเฟ้อกลับมาที่ 2% ได้

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลัง ปธ.เฟดแอตแลนตา มั่นใจดึงเงินเฟ้อกลับมาที่ 2% ได้ โดยไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากนัก ขณะที่ปัจจัยในประเทศตัวเลข 8 เดือนไทยขาดดุลการค้ากว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินบาทอ่อนค่าก่อนปิดตลาดที่ระดับ 37.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/9) ที่ระดับ 37.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/9) ที่ระดับ 37.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาให้สัมภาษณ์ในรายการ “Face The Nation” ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเมื่อวันอาทิตย์ (25 ก.ย.)

โดยนายบอสติกยึดมั่นต่อพันธสัญญาในการฉุดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% พร้อมแสดงมุมมองเชิงบวกว่า เฟดจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้โดยไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากนัก นายบอสติกยอมรับว่า การดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดนั้นมีแนวโน้มทำให้เกิดการตกงาน แต่เมื่อเทียบกับการคุมเข้มนโยบายการเงินครั้งก่อนหน้านี้ เขาเชื่อว่า “มีโอกาสสูงที่ปัญหาตกงานจะน้อยกว่าที่เคยเกิดขึ้นในสถานการณ์อื่น พร้อมเสริมว่า ตลาดงานที่แข็งแกร่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงแบบค่อนข้างเป็นระเบียบ

นอกจากนี้ นายบอสติกเปิดเผยว่ายังคงมองเห็นแรงผลักดันเชิงบวกในเศรษฐกิจ แม้ GDP เติบโตติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนพิจารณาว่าเป็นภาวะถดถอย สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เฟดเพิ่งมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตเพื่อฉุดเงินเฟ้อลง

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ส.ค. 65 มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรีญสหรัฐ ขยายตัว 7.5% จากตลาดคาดว่าจะขยายตัว 7.3-7.7% ทำให้การส่งออกในช่วง 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัว 11.0% ที่มูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าในเดือน ส.ค.มีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.3%

ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 21.4% ที่มูลค่า 210,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค. 65 ขาดดุล 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุล 14,131.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.65-37.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/9) ที่ระดับ 0.9647/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/9) ที่ระดับ 0.9735/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนายหลุยส์ เดอ กวินโดส รองประธานธนาครกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ปัญหาเงินเฟ้อในยูโรโซนเริ่มส่งอิทธิพลในวงกว้างขึ้น ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง เนื่องจากประเทศในเขตยูโรโซนกำลังเผชิญกับผลกระทบจากสงครามยูเครน

รองประธาน ECB เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในไตรมาสสามและสี่ของปีนี้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงหนัก โดย “อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจจ่อระดับศูนย์” ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9884-0.9978 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9569/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/9) ที่ระดับ 143.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/9) ที่ระดับ 143.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.25-144.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.98/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน ส.ค. จากเฟดชิคาโก (26/9), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. จาก Conference Board (27/9), ยอดขายบ้านใหม่เดือน ส.ค. (27/9), ยอดทำสัญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือน ส.ค. (28/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (29/9), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน ก.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (30/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.75/-7.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10/-8.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ