“หุ้น-ค่าเงิน-บอนด์” ผันผวนสูงรับข่าวเศรษฐกิจโลกใกล้ถดถอย

เงินบาท

“กรุงไทย” ชี้เศรษฐกิจโลกใกล้ถดถอย เอฟเฟ็กต์ตลาดการเงินผันผวนสูง ทั้ง “หุ้น-ค่าเงิน-บอนด์” นักลงทุนแห่ลดถือครองสินทรัพย์เสี่ยง หันถือครองดอลลาร์ หลังเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็ว-แรง

วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ “Recession is coming” เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดและนักวิเคราะห์ต่างเริ่มกังวลมากขึ้น หลังธนาคารกลางหลัก อย่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ต่างส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลกระทบให้ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าลดสถานะ ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นต่างปรับตัวลดลงหนักในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่เงินดอลลาร์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงเวลาปกติทั่วไป อย่างพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว อย่าง พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี กลับเผชิญแรงเทขายหนัก จากความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง

“ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทำให้ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับความสัมพันธ์ที่ผู้เล่นในตลาดต่างเคยเข้าใจ ดังจะเห็นได้จากการที่ พอร์ตการลงทุนแบบ หุ้น 60% บอนด์ 40% กลับให้ผลตอบแทนที่ย่ำแย่ในช่วงที่ผ่านมา หรือพันธบัตรรัฐบาลก็อาจไม่ใช่หลุมหลบภัยที่ดี หากธนาคารกลางยังใช้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูง ด้วยการเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย” นายพูนกล่าว

จับจังหวะลงทุนบอนด์

นายพูนกล่าวว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย มองว่าพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์) โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีความน่าสนใจมากขึ้น หลังจากที่ยีลด์ของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวได้ปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่าน เช่น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.80% ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึงระดับ 4.75% ในปีหน้า จากเดิมที่ผู้เล่นในตลาดมองว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่ถึง 4.00%

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอาจยังไม่ใช่จังหวะที่ดีในการเข้าถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เนื่องจากบอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าถือคือ ช่วงที่ภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลงชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“ข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 1978 (พ.ศ. 2521) ชี้ว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว อย่างบอนด์ 10 ปี สหรัฐให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่บอนด์ระยะสั้นสามารถเป็นสินทรัพย์ที่ผู้เล่นในตลาดสามารถเข้าถือได้จนกว่าจะถึงจุดกลับตัวของบอนด์ยีลด์ระยะยาว เนื่องจากบอนด์ยีลด์ระยะสั้นมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง” นายพูนกล่าว

หุ้นเอเชียแนวโน้มดี

นายพูนกล่าวว่า ด้านสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ประเมินว่าความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวหนักของเศรษฐกิจจะกดดันราคาหุ้นผ่านการปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (EPS) หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงแรงจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง ซึ่งกดดันการประเมินมูลค่า (Valuation) ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวกับการขึ้นดอกเบี้ย อย่าง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นเติบโต (Growth stocks) หรือเกิดภาพ De-rating กดดันให้ P/E ของหุ้นต่างปรับตัวลดลง

ดังนั้น แนวโน้มราคาสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง หุ้น ยังมีโอกาสปรับตัวลดลงต่อได้ ซึ่งจะขึ้นกับแนวโน้มผลกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยในฝั่งของประเทศที่อาจเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่าง สหรัฐและยุโรป จะเห็นได้ว่าบรรดานักวิเคราะห์ได้ทยอยปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนลง ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นยุโรปอาจยังคงมีความเสี่ยงปรับตัวลดลงต่อ

ส่วนในฝั่งเอเชีย แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งเอเชียที่ดูดีกว่าในฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) จะช่วยหนุนให้ตลาดทยอยปรับคาดการณ์ผลกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นของประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตแข็งแกร่งและระดับราคา (Valuation) ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำ อย่าง ตลาดหุ้นเวียดนาม โดยเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มโตสูงกว่า 7% ในปีนี้ และไม่น้อยกว่า 6% ในปีหน้า

ค่าเงินบาทผันผวนต่อเนื่อง

นายพูนกล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของค่าเงินบาทนั้น ในระยะสั้นโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะกดดันให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลงต่อได้ เนื่องจากเป้าหมายของผู้เล่นต่างชาติที่จะทยอยขายทำกำไรการ short เงินบาทคือแถว 38.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่จากแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อาจอ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงปลายปี ประกอบกับภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นหนุน โดยช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวจากต่างชาติ และแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ที่ลดลงตามการปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงค่าขนส่ง ค่าระวางเรือ ที่เริ่มทยอยลดลงตามการคลี่คลายของปัญหา Global Supply Chain Disruption

ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นสู่โซน 36 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปีนี้ได้

“ในปีหน้าหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าตามที่ตลาดกังวล ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะกลับมาผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้อีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่ากลับสู่โซน 35 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงสิ้นปี หากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงมากเข้าขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก” นายพูนกล่าว