กองทุนลดหย่อนภาษี SSF-RMF ใครบ้างควรซื้อ แล้วเลือกลงทุนอย่างไรดี?

กองทุนลดหย่อนภาษี หนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้มีรายได้ที่อยู่ในเกณฑ์เสียภาษี เพราะได้ทั้งเงินออม และลดหย่อนภาษีได้

แล้วจะเลือกลงทุนอย่างไร ระหว่างกองทุน SSF กับกองทุน RMF วันนี้ Prachachat Wealth ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ “คุณสาห์รัช ชัฏสุวรรณ” ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด

Q: กองทุนลดหย่อนภาษี มีหลักคิดอย่างไรในการเลือกซื้อ

นายสาห์รัช เปิดเผยว่า ถ้าพูดถึงกองทุนลดหย่อนภาษี จะมี 2 ประเภท เป็นกองทุน SSF (กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว) กับกองทุน RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) ซึ่งกองทุน RMF นี่คือตัวเดิม ส่วนกองทุน SSF นี่คือตัวใหม่ที่เข้ามาประมาณสัก 2-3 ปีที่ผ่านมา

คือฟีเจอร์คล้าย ๆ กัน แต่จะมีความแตกต่างในรายละเอียดบ้างในบางประเด็น แต่สามารถลดหย่อนภาษีได้ทั้งคู่ ถ้าเป็นคนที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน อายุยังน้อย ด้วยฟีเจอร์ของ SSF อาจจะเหมาะสมกว่า เพราะความแตกต่างอันหนึ่งของ RMF กับ SSF

ก็คือว่าตัว SSF ต้องลงทุนด้วยเงื่อนไขอย่างน้อย 10 ปี นับจากวันลงทุน ขณะที่ RMF เป็นเงื่อนไขที่ต้องลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับจากวันลงทุน แต่ถ้าจะขายได้ต้องอายุเกษียณไปแล้ว ก็คืออายุ 55 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเป็นคนในวัยทำงานในช่วงเริ่มต้น อายุยังน้อย การลงทุนของ SSF ดูแล้วอาจจะสั้นกว่า เราอาจต้องล็อกการลงทุนของเราเอาไว้แค่ 10 ปี แต่ RMF อาจต้องรอนาน เพราะฉะนั้นจะเหมาะสมกว่าสำหรับคนอายุน้อย

แต่คนที่อยู่ในวัยอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป ทางเลือกในการลงทุนของ RMF อาจจะเหมาะสมกว่า เพราะว่าเรามีระยะเวลาการรอคอยไม่ยาวเท่า SSF ลงทุนแค่ 5 ปี เกษียณก็ขายได้แล้ว

Q: ในภาวะตลาดเงินตลาดทุนเจอมรสุม มีคำแนะนำไหมควรเลือกสินทรัพย์อย่างไร

นายสาห์รัช กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อแค่ให้เราออมเงินในระยะยาว และการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี และให้เรามีเม็ดเงินไปใช้ในยามหลังเกษียณ ทีนี้มันเป็นการลงทุนระยะยาว และสามารถที่จะลงทุนตั้งแต่ “เสี่ยงต่ำ” “เสี่ยงกลาง” จนถึง “เสี่ยงสูงมาก” คือลงทุนในหุ้นต่าง ๆ เพื่อที่จะคาดหวังผลตอบแทนที่สูง

หลักของการลงทุนคือความเสี่ยงสูง มันก็ตามมาด้วยผลตอบแทนที่สูง ถ้าเกิดเราเป็นนักลงทุนระยะยาว RMF อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป หรือ SSF ที่อย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป มันก็ยาวพอที่เราจะเสี่ยงได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าทั้ง SSF และ RMF ไม่ได้ถูกจำกัดว่ามีนโยบายการลงทุนแบบเดียว ลงทุนหุ้นไทยอย่างเดียว หรือลงทุนหุ้นประเทศไหนอย่างเดียว

ณ วันนี้ บลจ.ต่าง ๆ รวมถึง บลจ.ทิสโก้เองก็จะมีหลากหลายกองทุน SSF หรือ RMF ลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ หลากหลายประเทศ หลากหลายธีมให้เลือกสรรได้ เพราะฉะนั้นเรารู้แล้วว่าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง แต่เราก็ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงตรงนั้นให้มันดีด้วย

หลักง่าย ๆ ในการบริหารจัดการความเสี่ยงตรงนี้ ก็คือเรื่องของการกระจายความเสี่ยง เพราะฉะนั้นข้อแนะนำเบื้องต้นในการลงทุน SSF หรือ RMF ไม่ว่าจะกองประเภทไหน เราอยากแนะนำให้กระจายในหลาย ๆ กองทุนในหลาย ๆ สินทรัพย์ หลาย ๆ ประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป

ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนสูง เราก็ต้องลงทุนในกองทุนประเภทหุ้น มีทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หุ้นอเมริกา หุ้นญี่ปุ่น หุ้นจีน หรือหุ้นเอเชีย เราน่าจะมีการจัดพอร์ตให้มีการกระจายตัวตามมุมมองในแต่ละปี หรือในแต่ละขณะที่เราลงทุน

เบื้องต้นเราก็มองว่าปีหน้า (2566) ก็เป็นปีที่ตลาดยังมีความผันผวนอยู่ แต่ถ้าเรามองไปไกล ๆ ยาว ๆ การลงทุนในหุ้นก็น่าจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดอยู่ดี

Q: ให้น้ำหนักส่วนไหนมากกว่ากันในการบาลานซ์พอร์ตโฟลิโอ

นายสาห์รัช กล่าวอีกว่า สัดส่วนประมาณ 30% ลงทุนหุ้นไทย และอีก 70% ก็อาจจะเป็นหุ้นต่างประเทศ อันนี้พอร์ตสำหรับคนที่ผม Assume ว่าลงทุนระยะยาวและรับความเสี่ยงได้ เพราะอย่างน้อย 5 ปี 10 ปีขึ้นไป เราสามารถรับความเสี่ยงสูงได้

สัดส่วน 70% ต่างประเทศ ประมาณสักเกือบครึ่ง 20-30% อาจจะไปวางน้ำหนักที่หุ้นอเมริกา เพราะหุ้นอเมริกามีการปรับฐานมาพอสมควร และซึมซับเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยมาพอสมควรแล้ว และเป็นตลาดใหญ่ และค่อนข้างเสถียร

ส่วนอีกประมาณ 20-30% อาจมีการกระจายตัว มีตลาดจีนบางส่วน ประมาณสัก 10-20% ยุโรปอาจจะหลีกเลี่ยงก่อนในช่วงนี้ และอีกส่วนหนึ่งอาจเลือกลงทุนเน้นอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงการเติบโต เช่น กลุ่มเทคโนโลยี เพราะในอีก 5-10 ปีข้างหน้า มีโอกาสเติบโตสูงมาก และอีกส่วนไปหากองพวกเฮลธ์แคร์ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างมีความมั่นคงในเรื่องของรายได้

Q: ไตรมาส 4 เม็ดเงินซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี จะหวือหวาเมื่อเทียบกับปีก่อนไหม

เราคาดว่าคงไม่ได้หวือหวาไปมากกว่าเดิม ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจ แต่ในแง่ของจำนวนผู้ลงทุนมันก็อาจจะขยายฐานกว้างขึ้น แต่ในแง่ของเม็ดเงินก็คงอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม เพราะคนเดิมที่เคยลงทุนทุก ๆ ปีอยู่แล้ว ผมก็เชื่อว่าก็น่าจะลงทุนต่อเนื่อง เพราะประโยชน์ของกองทุน SSF และ RMF 1.สามารถลดหย่อนภาษีได้ ถ้าคน Tax Bracket ยิ่งสูงก็ยิ่งเซฟเรื่องของการจ่ายภาษีได้เยอะ

2.การออมและการลงทุน ณ เลเวลปัจจุบัน ปรับฐานลงมาลึกแล้ว ราคาถูกลง Discount ลงมากว่า 20% ถ้าเป็นกลุ่ม High Growth อาจจะ Discount ลงมากว่า 40-50% เพราะฉะนั้นก็เป็นโอกาส ผมจึงคิดว่าเม็ดเงินคนที่ลงทุนอยู่แล้วก็น่าจะลงทุนต่อเนื่อง

ในส่วนกองทุน SSF เองต้องย้ำว่าไม่ได้เป็นกองทุนที่สามารถซื้อขายได้ไปทุกปี เพราะทางกรมสรรพากรให้มาจะมีหมดเขตแค่ปี 2567 หรืออีก 2 ปีเท่านั้น ฉะนั้นโอกาสในการซื้อ SSF มีแค่ปีนี้และอีก 2 ปีข้างหน้าเท่านั้นเอง ก็เป็นโอกาสสำหรับคนที่ต้องการจะลดหย่อนภาษีด้วย และออมเงินผ่านกองทุนด้วย