จดหมายจากแบงก์ชาติ ถึงคลังแก้ปัญหาเงินเฟ้อ 13 ปี 11 ฉบับ

แบงก์ชาติ

ย้อนรอยจดหมายเปิดผนึกแบงก์ชาติถึงรัฐมนตรีคลัง ในรอบ 13 ปี มีจดหมายแล้ว 11 ฉบับ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564-กันยายน 2565) อยู่ที่ 5.23% สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน จากข้อมูลเงินเฟ้อเดือนกันยายนล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ที่อยู่ 6.41% และประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 4 ปี 2565 ถึงไตรมาส 3 ปี 2566) จะอยู่ที่ 3.9% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย โดยกรอบเป้าหมายอยู่ที่ 1-3%

ใช้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาส 0-3.5%

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยก่อนจะมาใช้กรอบเงินเฟ้อ 1-3% ในปัจจุบัน พบว่าในช่วงยุคแรก ๆ นั้น ประเทศไทยเดิมใช้เงินเฟ้อพื้นฐานเป็นกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเริ่มในปี 2543-2551 กำหนดใช้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย ซึ่งกรอบจะอยู่ที่ 0-3.5%

และต่อมาในปี 2552-2557 ยังคงใช้กรอบเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาส แต่มีการปรับกรอบเงินเฟ้อให้แคบลงเป็น 0.5-3% อย่างไรก็ดี ในปี 2552 ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการกำหนดให้มีการจัดทำกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายในทุก ๆ ปี ภายในเดือนธันวาคมของปี จึงเป็นที่มา “จดหมายเปิดผนึก” โดยเริ่มมีกระบวนการกำหนดเป้าหมายร่วมกันระหว่าง ธปท.และกระทรวงการคลัง และมีการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ปรับกรอบใช้เงินเฟ้อทั่วไป-ชี้แจงทุก 6 เดือน

ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่ปี 2558-2562 ได้เปลี่ยนมาใช้กรอบ “เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปี” อยู่ที่ 2.5+-1.5% หรือ 1-4% และนับตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบันมีการปรับกรอบให้แคบลงเหลือ 1-3% โดยมีข้อตกลงหากการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท.จะต้องมีการชี้แจงสาเหตุการหลุดนอกกรอบทุก 6 เดือน ทำให้เห็นว่าภายใน 1 ปีจะต้องมีการชี้แจง 2 ครั้ง หากกรอบเงินเฟ้อหลุดออกนอกกรอบเป้าหมาย

และหากดูข้อมูลเงินเฟ้อที่มีช่วงเวลาหลุดกรอบเป้าหมายจากที่กำหนดไว้ จะพบว่า ในช่วงที่ใช้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาส 0-3.5% ยังไม่มีการหลุดกรอบเป้าหมายแต่อย่างใด จนกระทั่งในปี 2552 เงินเฟ้อได้หลุดกรอบเป้าหมาย 0.5-3% จำนวน 1 ครั้ง โดยเงินเฟ้อไตรมาส 1 และ 2 ตัวเลขติดลบ ซึ่งในช่วงนั้นเกิดวิกฤตในสหรัฐ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

13 ปีส่งจดหมายเปิดผนึก 11 ฉบับ

ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ธปท.จะมี “จดหมายเปิดผนึก” มีจดหมายเปิดผนึกรวมแล้วทั้งสิ้น 11 ฉบับ ภายในระยะเวลา 13 ปี

โดยในช่วงปี 2558-ปัจจุบัน จะพบว่ามีจดหมายเปิดผนึกค่อนข้างเยอะ โดยเริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558, มกราคม 2559, มกราคม 2560, มกราคม 2561, มกราคม 2563, กรกฎาคม 2563, มกราคม 2564, กรกฎาคม 2564, เมษายน 2565 และล่าสุด ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ เพื่อชี้แจงให้กระทรวงคลังรับทราบ