SET Index คาดกลับตัวขึ้นได้ ในไตรมาส 4

SET Index
คอลัมน์ : เติมความคิด พิชิตการลงทุน
ผู้เขียน : เอกภาวิน สุนทราภิชาติ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด

สวัสดีครับท่านนักลงทุน เริ่มต้นเดือน ต.ค. SET ยังปรับลงต่อ หลุดระดับ 1,600 จุด จากแรงขายแทบทุกกลุ่ม จากความกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กลับมาอีกครั้ง หลังสหรัฐรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน ก.ย. ดีกว่าคาด

และอัตราว่างงานลดลง แสดงถึงตลาดการจ้างงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง สร้างความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจยังไม่ชะลอตัวชัดนัก ทำให้เฟดต้องจำเป็นในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อ

โดยส่วนใหญ่นักลงทุนในตลาดมองว่าในการประชุมเฟดครั้งถัดไปวันที่ 1-2 พ.ย. เฟดยังคงขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.75% และครั้งสุดท้ายของปีในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. จะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 0.5% ด้านทิศทาง Fund flow (กระแสเงินทุนต่างชาติ) ยังไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่ SET ทำจุดสูงสุดไว้ที่ระดับ 1,672 จุด ในวันที่ 12 ก.ย. หลังจากนั้นดัชนีปรับลงต่อเนื่องถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ด้านมุมมอง SET แม้ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางต่าง ๆ ที่ต่างก็เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดหุ้นปรับตัวลงสะท้อนปัจจัยลบนี้มาพอสมควรแล้ว ทำให้มอง SET ที่ปรับลงมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมี downside ที่จำกัดบริเวณ 1,530-1,550 จุด และสามารถฟื้นตัวปรับขึ้นได้

โดยมีปัจจัยหนุนจาก 1) ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งไตรมาส 4 (Q4) ฟื้นตัวเด่น และ 2) นโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และเงินเฟ้อผ่านจุดพีกไปแล้ว ทำให้คาดว่าจะทำให้ทิศทาง fund flow มีโอกาสไหลกลับเข้ามาอีกครั้ง

ส่วนเป้าหมายในช่วงปลายปีจนถึงช่วงต้นปีหน้า คาดว่าดัชนียังมีโอกาสขึ้นทดสอบบริเวณ 1,700 จุดได้อยู่ นอกจากนี้ ในเชิงสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา ไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดของแต่ละปี โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% โดยเมื่ออิงกับข้อมูลในอดีต ไตรมาส 4 มีแนวโน้มที่จะเป็นไตรมาสที่แข็งแกร่งและให้ผลตอบแทนเป็นบวก พลิกกลับจากไตรมาส 3 ที่อ่อนแอตามฤดูกาล

SET Index Q4

ด้านกลยุทธ์การลงทุน ยังแนะนำ Selective Buy โดยผมแนะนำ Stock Picks ใน Q4/65 ของ InnovestX ซึ่งจากการวิเคราะห์ มีลักษณะเด่นของหุ้น 4 ประการ ที่จะช่วยให้ทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดใน 4Q22 ได้แก่

1) มีอำนาจในการกำหนดราคาสูงและงบดุลดี ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบจากแรงกดดันด้านต้นทุนสูงและความเสี่ยงจากภายนอก

2) ดึงดูดอุปสงค์ในประเทศและได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศที่จะขยายตัวมากขึ้นในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว

3) โมเมนตัมและความชัดเจนของกำไร ในสภาวะแวดล้อมที่ความเสี่ยงด้านการประเมินมูลค่าหุ้น จากการขึ้นดอกเบี้ยเบาบางลง และเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ หุ้นที่กำไรเติบโตสูงจะได้รับประโยชน์มากที่สุด

และ 4) มีความทนทานในทุกสภาพตลาด (หุ้นเชิงรับ) ซึ่งยังคงเก็บหุ้นเชิงรับไว้จนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ว่าเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย และยืนยันว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นปรับลดลง

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น ทำให้คาดว่าบริษัทที่มีงบดุลแข็งแรง กำไรเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และมาร์จิ้นสูงและมีเสถียรภาพ จะปรับตัว outperform ส่งผลให้ชอบหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจโลก เมื่อพิจารณาจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ในขณะที่หุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างมีความยืดหยุ่นมากกว่า และได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ดังนั้น หุ้นเด่นในไตรมาส 4 ปี 2565 (4Q22) ได้แก่ 1) AMATA (โมเมนตัมการเติบโตของกำไรแข็งแกร่ง EV และ data center) 2) AP (อำนาจในการกำหนดราคาสูง รายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง) 3) CRC (เปิดประเทศ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง) 4) KTB (ได้ประโยชน์จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตั้งสำรองต่ำกว่าคาด) และ 5) MTC (กำไรฟื้นตัว valuation สมเหตุสมผล)

แล้วพบกันใหม่ ในคอลัมน์ฉบับหน้า ด้วยรักและหวังดี