ซีอีโอ “อาทิตย์” เคลียร์ปมร้อน สหภาพ SCB กระทุ้งปรับเงินเดือน-โบนัส

อาทิตย์ นันทวิทยา - ไวทิต ศิริสุวรรณ

มรสุมพัดเข้ามาตั้งแต่ต้นปีจอ สำหรับแบงก์ใบโพธิ์ หรือ “ธนาคารไทยพาณิชย์” (SCB) หลังจากที่แม่ทัพใหญ่ “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SCB ได้แถลงข่าววิสัยทัศน์ของธนาคารในปี “2020 SCB VISION” ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ประกาศออกมาคือ การตั้งเป้าแผน 3 ปีจากนี้ (ปี 2561-2563) จะปรับลดพนักงานเหลือ 15,000 คนจาก 27,000 คน โดยจะเป็นการลดจากการทยอยลาออกในแต่ละปี และการลดจำนวนสาขาจากปัจจุบัน 1,153 สาขา เหลือประมาณ 400 สาขา

กลายเป็นกระแส “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” เขย่าวงการแบงก์เลยทีเดียว และนำมาสู่ปฏิกิริยาของ “สหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์” เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ได้ออกแถลงการณ์พิเศษฉบับที่ 6 ซึ่งมีประเด็นที่ระบุถึง “variable bonus โบนัสพิเศษ หายไปจากที่ควรจะได้ กระบอกเงินเดือนไม่ปรับ สัญญาไม่เป็นจริง วิกฤตซ้ำสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เล็งบีบพนักงานให้เปลี่ยน หากไม่เปลี่ยน เชิญลาออก…” พร้อมกับนัดสมาชิกและพนักงานแบงก์ รวมตัวกันแสดงพลัง เพื่อทวงถามความชอบธรรมเพื่อสมาชิกและพนักงานแบงก์ไทยพาณิชย์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2561 ตั้งแต่เวลา 12.00-12.45 น.ที่รัชโยธิน ทุกวันจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหา

การแสดงพลังเริ่มต้นไม่นาน ผู้บริหารธนาคาร ก็ได้ตัดสินใจคลี่คลายปัญหา ด้วยการเรียกประธานสหภาพ และคณะเจรจาถึงข้อเสนอและหาแนวทางที่ลงตัวในช่วงบ่ายของวันแรกที่นัดแสดงพลังภายหลังการหารือร่วมกัน “ไวทิต ศิริสุวรรณ” ประธาน สหภาพแรงงานธนาคาร ได้ออกมาให้ข่าวว่า การประท้วงรอบนี้ของสหภาพแรงงานธนาคาร ถือเป็นการเรียกร้องความยุติธรรมให้พนักงานล้วน ๆ และขอความชัดเจนในหลายประเด็น

โดยข้อเรียกร้องเบื้องต้น อาทิ ขอให้ธนาคารทบทวนการปรับเงินเดือนสำหรับพนักงานด้านบริการ “เกรด 1-2 และเกรด 3 บางคนที่ฐานเงินเดือนต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะสหภาพได้รับชี้แจงจากพนักงานแผนกนี้ว่า ได้รับความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างเงินเดือน เพราะเพดานเงินเดือน “สูงสุด” ได้ถูกกำหนดไว้เพียง 22,500 บาทต่อเดือน สวนทางกับตำแหน่งอื่น ๆ ที่มีการปรับขึ้นเงินเดือนแบบลอยตัว หรือไม่มี “ลิมิต” (จำกัด) นี่คือสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่อยากร้องเรียน

จึงมีข้อเสนอว่า ควรปรับฐานเงินเดือนของพนักงานเกรด 1-2 เหล่านี้ ให้เป็นแบบ “ลอยตัว” หรือ “ไม่ควรมีลิมิตเพดาน” นั่นคือ ควรมีการปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานกลุ่มนี้ ตามการปรับขึ้นเงินเดือนของแต่ละปีของธนาคาร ซึ่งสุดท้าย “ไวทิต” ก็มองว่า หากปรับเป็นเงินเดือน “ลอยตัว” ได้ น่าจะทำให้เงินเดือนพนักงานเหล่านี้ คงไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ไม่เป็นต้นทุนกับธนาคารเท่าไหร่นัก

“สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของพนักงาน จากฐานเงินเดือนที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งหากดูพนักงานที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวราวกว่า 20% หรือ 5,000 คนจากพนักงานธนาคารทั้งหมดที่ีอยู่ 27,000 คน” นายไวทิตกล่าว

อีกข้อเรียกร้อง คือ การขอความชัดเจนเกี่ยวกับการลดองค์กร การลดพนักงาน และการโยกย้ายพนักงาน หากต้องปรับเปลี่ยน หรือปิดสาขา

“ไวทิต” กล่าวย้ำว่า “ผมไม่เคยว่า หากธนาคารจะปรับลดโครงสร้างองค์กร แต่ต้องมีความชัดเจน ทำอย่างไรให้พนักงานรู้สึกว่า ต้องเปลี่ยนแปลงเองจริง ๆ ไม่ใช่มาจากการบีบบังคับ ให้เปลี่ยน และจะไม่เลิกจ้างพนักงานเหล่านี้ และหากปรับเปลี่ยนการทำงาน สิ่งเหล่านี้ธนาคารจะทำอย่างไร ไม่ให้กระทบต่อชีวิต และเงินเดือนของพนักงาน”

ส่วนข้อร้องเรียนที่อยากให้ปรับโครงสร้างเงินเดือนรวมของพนักงานและปรับโบนัสต่อปีขึ้นนั้น ล่าสุดธนาคารได้ปรับขึ้นให้แล้ว โดยปรับเงินพิเศษมาอยู่ที่ 5.5% ต่อปี จากข้อเรียกร้อง 6% และโบนัสเป็น 2.5 เดือนจาก 2.75 เดือนต่อปี ซึ่งเป็นสิ่งที่พอรับได้ เพราะเข้าใจว่าปีที่ผ่านมา ธนาคารเริ่มมีกำไรลดลง

“ไวทิต” กล่าวด้วยว่า ข้อร้องเรียนดังกล่าว ถูกรับไว้พิจารณาโดย “อาทิตย์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร ภายหลังการเข้าหารือร่วมกันเกือบ 2 ชม. ซึ่ง “อาทิตย์” ก็ได้ยืนยันว่า จะไม่ปลดพนักงานและไม่มีโครงการ early retire (เกษียณก่อนครบอายุ) หรือสมัครใจลาออกแน่นอน ถือว่าได้รับคำตอบกระจ่างสำหรับ “สหภาพ” และได้ยุติการชุมนุมไปแล้ว แต่หากการพิจารณาไม่ได้รับการแก้ไข สหภาพก็พร้อมกลับมาประท้วงเพื่อทวงสิทธิให้ “พนักงาน” อีกครั้ง

นับเป็นการร่ายมนตร์กล่อมของเอ็มดีใหญ่ และทีมผู้บริหารของแบงก์ที่สามารถเจรจาคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าผ่านไปได้ในวันนี้