ดอลลาร์เริ่มฟื้นตัวหลังเจ้าหน้าที่เฟดยังหนุนขึ้นดอกเบี้ย

ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 14-18 พฤศจิกาย 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (14/11) ที่ระดับ 35.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/11) ที่ระดับ 36.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ยังคงถูกกดดันจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนธันวาคม ภายหลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคมที่ต่ำกว่าคาด นอกจากนี้นักลงทุนพากันเทขายดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หลังจีนส่งสัญญาณเปิดประเทศโดยประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในวันศุกร์ (11/11) ด้วยการปรับลดระยะเวลาการกักตัวของผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ รวมทั้งยกเลิกระบบลงโทษสายการบินในกรณีที่พบผู้โดยสารติดเชื้อโควิด นอกจากนั้นแล้วนักลงทุนยังให้ความสนใจกับการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน นอกรอบการประชุมสุดยอด G20 ในประเทศอินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ย้ำในการแถลงข่าวหลังพูดคุยกับนายสี จิ้นผิง ผู้นำจีนว่า จะไม่มีสงครามเย็นเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน อย่างไรก็ดี นายไบเดนบอกว่า เขาได้ย้ำกับนายสีว่านโยบายของสหรัฐเรื่องไต้หวันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย และเขาอยากให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขอย่างสันติ ขณะที่ในเรื่องของยูเครน สื่อของจีนรายงานว่า นายสีบอกว่าเขากังวลมากเรื่องสถานการณ์การสู้รบในยูเครนที่ยืดเยื้อมาหลายเดือนแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจีนได้ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียยับยั้งชั่งใจแต่ก็ไม่ได้ถึงกับประณามรัสเซียซึ่งเป็นคู่ค้าของตน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในวันอังคาร (15/11) หลังจากที่นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดออกมาระบุว่าเฟดจะยังคงเเดินหน้าต่อสู้กับเงินเฟ้อ โดยกล่าวว่า เฟดจะไม่ผ่อนคลายมาตรการต่อสู้กับเงินเฟ้อ แม้ว่าเงินเฟ้อปรับตัวต่ำกว่าคาดในเดือนตุลาคม เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวมาจากข้อมูลเพียงชุดเดียว และเฟดจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลในวงกว้างเพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงอย่างแท้จริง นอกจากนั้นแล้วค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังจากที่รัสเซียมีการยิงขีปนาวุธไปตกในพื้นที่ของประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมา นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ออกมากล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ขีปนาวุธที่มีการยิงตกใส่ชายแดนโปแลนด์ อาจเป็นขีปนาวุธของระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน จึงทำให้ตลาดเริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดลง สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีออกมาระหว่างสัปดาห์นั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตประจำเดือนตุลาคม ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว โดยดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 8.0% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3% และชะลอตัวจากระดับ 8.4% ในเดือนกันยายนเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.2% ในเดือนกันยายน ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.4% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบรายปีชะลอตัวจากระดับ 5.6% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) สูงกว่าคาด โดยดีดตัวขึ้นสู่ระดับ +4.5 ในเดือนพฤศจิกายนสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -6.0 จากระดับ -9.1 ในเดือนตุลาคม โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน แม้ว่าคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลง ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยยอดค้าปลีกประจำเดือนตุลาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% จากเดือนก่อนหน้าและสูงกว่าที่มีการคาดการณ์ที่ระดับ 1.0% โดยตัวเลขดังกล่าวได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับตัวสูงขึ้นของยอดขายรถยนต์และราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งเพิ่มยอดขายของสถานีบริการน้ำมัน สำหรับยอดค้าปลีกพื้นฐานไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 0.6%

สำหรับปัจจัยภายในประทศ ในช่วงต้นสัปดาห์ น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาการแข็งค่าของเงินภูมิภาคสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น จากการคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าอาจผ่อนคลายความเข้มงวดลงได้บ้าง โดยเฉพาะหลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอลงมากกว่าคาด รวมถึงเริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid-19 จากทางการจีนส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับอ่อนค่าลงกว่า 3% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินภูมิภาคและปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากสิ้นเดือนตุลาคมประมาณ 5% โดยทาง น.ส.ชญาวดี มองว่า ความผันผวนในตลาดการเงินยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับสูงในระยะถัดไป ภาคเอกชนจึงควรบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ได้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2565 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าระดับ 3% โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2565 และไตรมาส 3/2565 2.5% และ 2.2% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของ ธปท.ที่คาดว่าเศรษฐกิจปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.3% ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.53-36.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/11) ที่ระดับ 35.85/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (14/11) ที่ระดับ 1.0329/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/11) ที่ระดับ 1.0257/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดยังคงวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ หลังสำนักงานสถิติแห่งเยอรมนี (FSO) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนีซึ่งได้รับการปรับค่าเพื่อให้สามารถเทียบเคียงกับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย (HICP) ของสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้นแตะ 11.6% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี ส่วนดัชนี CPI ที่ไม่ได้รับการปรับค่านั้นอยู่ที่ 10.4% นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงหนุนหลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มซบเซามากกว่าที่ IMF คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และวิกฤตพลังงานที่เลวร้ายลงในยุโรปจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อที่สูงเป็นเวลานานอาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรได้เริ่มอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์หลังศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -36.7 ในเดือนพฤศจิกายนโดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -59.0 จากระดับ -59.2 ในเดือนตุลาคมโดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงในไม่ช้า ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีกรอบระหว่าง 1.0270-1.0480 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/11) ที่ระดับ 1.0372 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (14/11) ที่ระดับ 139.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/11) ที่ระดับ 140.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์โดยได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2565 ที่หดตัวลง 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปี และสวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาในหมวดอาหารสด พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี ในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดี ยอดส่งออกของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น 25.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 20 โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของยอดส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนของยอดนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น 53.5% จากการนำเข้าน้ำมันดิบ, ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเหลว ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าประจำเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 2.16 ล้านล้านเยน (1.55 หมื่นล้านดอลลาร์) ถือว่าเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.46-140.74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/11) ที่ระดับ 139.99/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ