กรุงไทย มองวิกฤตโควิด-สงครามการค้า กระทบศักยภาพธุรกิจแบงก์ไทย

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เผย วิกฤตโควิด-สงครามการค้า ตลาดหวั่นธุรกิจธนาคารกระทบศักยภาพธนาคาร หลังเผชิญอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชีต่ำกว่า 1 เท่า ลั่นแบงก์ไทยยังต้องดูคุณภาพสินเชื่อรับมือปัจจัยเสี่ยง พร้อมเดินหน้าเชิงรุกด้านทาง ESG

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นายชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในช่วง 2551-2552 ที่มีจุดเริ่มต้นจากวิกฤต Subprime แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบการเงินโลกและกระทบความเชื่อมั่นของตลาดต่อธุรกิจธนาคารโดยรวม โดยเฉพาะธนาคารในสหรัฐ และสหภาพยุโรป ส่งผลให้อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชีลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่ายาวนาน

แม้ว่าตลาดกลับมามีมุมมองที่ดีขึ้นต่อธุรกิจธนาคารภายหลังจากช่วง 2551-2555 แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างจากวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งการระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อตั้งแต่ต้นปี 2563 และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ทำให้ตลาดมีความกังวลต่อศักยภาพของธุรกิจธนาคารอีกครั้งหนึ่ง

ตลาดมองศักยภาพของธนาคารต่างกันจากความสามารถในการทำกำไรและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีแนวโน้มที่จะให้มูลค่าที่ดีกับธนาคารที่ทำกำไรได้ดีกว่า และมีความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (ESG Risk) ต่ำกว่า

Krungthai COMPASS มองว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจำเป็นต้องดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้บริการที่มากกว่าการเป็นธนาคาร (Beyond Banking) รวมถึงการขับเคลื่อนธุรกิจเชิงรุกโดยยึดหลักการ ESG เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน

ท่ามกลางการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอยชัดเจนขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมในระยะข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัวและยังมีความเปราะบางอยู่ โดยภาคธุรกิจไทยจะยังคงถูกกดดันจากปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งในแง่ต้นทุนธุรกิจที่สูงจากต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า ค่าไฟฟ้า และค่าจ้างแรงงาน รวมไปถึงการส่งออกสินค้าที่จะเติบโตชะลอลง ตามอุปสงค์ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และต้นทุนทางการเงินที่โน้มสูงขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ขณะเดียวกัน หนี้ครัวเรือนและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะกดดันกำลังซื้อและการบริโภค ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีขนาดเล็กและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมีความเสี่ยงที่จะหารายได้ได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้

ในปัจจุบัน สถานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง อัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อหนี้ด้อยคุณภาพ และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤตที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำมาก แต่ก็กำลังเผชิญความท้าทายเช่นเดียวกับธนาคารทั่วโลกที่มี PBR ต่ำกว่า 1 เท่า

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่าธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถสร้างมุมมองตลาดใหม่และยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยการเติบโตธุรกิจและพร้อมรับมือกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน และกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน