สาระ ล่ำซำ นำทีมรื้อประกันบำนาญ เน้นออมเพื่อเกษียณ-เลิกคุ้มครองชีวิต

สมาคมประกันชีวิตไทย ถกสมาชิกเล็งรื้อ “ประกันบำนาญ” ใหม่ มุ่งตอบโจทย์เงินออมเพื่อเกษียณอายุ-รองรับสังคมสูงวัย “สาระ” ระบุต้องแก้กฎหมาย เร่งหาข้อสรุปเสนอ คปภ.เร็ว ๆ นี้ ฟาก “ไทยประกันชีวิต” หนุนแยกความคุ้มครองชีวิตออกจากประกันบำนาญ

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ mtl ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทประกันชีวิตในสังกัดสมาคมกำลังหารือร่วมกันเพื่อพัฒนาแบบประกันบำนาญตัวใหม่ เพื่อให้ออกมาตอบโจทย์ชีวิตคนไทยภายใต้บริบทสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของประเทศ

“วันนี้แบบประกันบำนาญจริง ๆ คือเรื่องความเสี่ยงที่คนอายุยืน แต่มีเงินจ่ายไม่พอ ประกอบกับมีหลายมิติเกิดขึ้นในบริบทสังคม เช่น การมีครอบครัวเดี่ยว หรือคนโสดที่มากขึ้น ฉะนั้นหลักการของแบบประกันบำนาญจริง ๆ คือเมื่อยามเกษียณอายุ อยากจะมีเงินเท่าไหร่ต่อเดือน ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับเรื่องการเสียชีวิตแล้ว”

โดยแนวทางจะยึดโมเดลในต่างประเทศ คือ หากอยากได้ความคุ้มครองชีวิตด้วย ต้องไปซื้อแบบประกันตลอดชีพหรือแบบประกันชั่วระยะเวลาแทน ซึ่งเบี้ยที่จ่ายก็จะถูกลงด้วย ขณะที่หากต้องการออม ต้องมีระยะเวลาที่ยาวออกไปกว่าเดิม เพราะการเกษียณอายุไม่ควรไปจบที่อายุ 55 ปี 60 ปี หรือ 65 ปี

“วันนี้คนอายุ 55-65 ปี ถือว่ายังหนุ่มยังสาวมาก และเป็นช่วงที่มีประสบการณ์ที่ดีมาก ที่สำคัญต้องส่งเสริมให้คนไทยมีวินัยการออมตั้งแต่วัยเด็ก หรือ GEN Z”

สาระ ล่ำซำ
สาระ ล่ำซำ

อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ ไม่ควรปล่อยให้ถอนมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ระหว่างทางออกมาได้เหมือนในปัจจุบัน แต่จะต้องให้เป็นการออมโดยวิธีบังคับ (Forced saving) เหมือนการออมผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ห้ามถอนจนครบอายุ 55 ปี เพื่อไม่ให้มีเงินออกระหว่างทาง และเพื่อตอบโจทย์ให้คนไทยมีเงินบำนาญที่แท้จริง

นอกจากนี้ ควรจะมีทางเลือกในการรับเงินบำนาญ เช่น จ่ายเงินเป็นรายเดือน หรือจ่ายเป็นเงินก้อนก่อนบางส่วนได้ ไม่ควรถูกล็อกเงื่อนไขเดียว

นายสาระกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากนั้นต้องสามารถไปเชื่อมต่อกับโลกใหม่ได้ เช่น ออมเงินผ่านประกันบำนาญเพื่อไปผูกกับการใช้บริการ Nursing Home หรือ Independent Living ในอนาคต

“ทั้งหมดที่กล่าวมา น่าจะเป็นบำนาญที่น่าจะตอบโจทย์ของชีวิตคนไทย อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวยังอยู่ในช่วงศึกษา เนื่องจากด้วยข้อกฎหมายในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ แต่หากได้ข้อสรุปแล้วจะนำเข้าไปพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต่อไป อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้จะเป็นตัวเลือกจากปัจจุบันของแบบประกันบำนาญที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 แสนบาท โดยมีการจ่ายผลประโยชน์เมื่อเกษียณอายุเป็นรายงวดเท่า ๆ กัน พร้อมกับมีทุนประกันคุ้มครองกรณีเสียชีวิต” นายสาระกล่าว

ข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตระบุว่า ภาพรวมเบี้ยประกันบำนาญทั้งอุตสาหกรรม ล่าสุดช่วง 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) อยู่ที่ 10,014.53 ล้านบาท เติบโต 6.83% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมาจากเบี้ยปีแรก 1,545.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.67% เบี้ยชำระครั้งเดียว 101.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.74% และเบี้ยปีต่ออายุ 8,367.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.04%

นายนิติพงษ์ ปรัชญานิมิต รองผู้จัดการใหญ่ และ Chief Marketing Officer บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) กล่าวว่า โมเดลที่หารือกันอยู่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี จะช่วยเพิ่มความหลากหลายด้านผลิตภัณฑ์ให้กับอุตสาหกรรมประกันชีวิต เพราะแบบประกันบำนาญเดิม ไม่ค่อยน่าสนใจ

เนื่องจากเงินคืน หรือเงินเกษียณได้น้อย เพราะถูกชาร์จไปกับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตที่สูงพอสมควร ทั้งที่ตามปกติแล้ว ประกันบำนาญ คือความคุ้มครองการอยู่รอด ไม่ได้จ่ายเพื่อคุ้มครองการเสียชีวิต จึงน่าจะมีทางเลือกให้กับลูกค้าผู้เอาประกันได้ ซึ่งหากสละทุนประกันชีวิตออก ก็จะทำให้เบี้ยที่จ่ายถูกลงด้วย

นิติพงษ์ ปรัชญานิมิต
นิติพงษ์ ปรัชญานิมิต

“แบบประกันบำนาญตัวเดิมในบ้านเราเป็นแบบที่ใช้มานาน ซึ่งค่อนข้างเป็นการผสม เพราะด้วยความกังวลของหน่วยงานกำกับที่กลัวผู้บริโภคไม่เข้าใจในตอนนั้น แต่ปัจจุบันเราเชื่อว่าจะสามารถสื่อสารให้ความรู้ได้ และวันนี้เราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ นั่นแปลว่าเราทุกคนจะมีอายุยาวกว่าที่คาด ทำให้เป็นความเสี่ยงที่คนไทยต้องการความคุ้มครองตรงนี้มากขึ้น และราคาเบี้ยที่จ่ายไม่แพง ยอมรับได้ เห็นผลประโยชน์ความคุ้มค่าอย่างแท้จริง” นายนิติพงษ์กล่าว