สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ลุยคุ้มครอง Virtual Bank คาดเงินฝากปี’66 โต 4-6%

ลงทุน เงิน

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA เผยพร้อมเดินหน้าคุ้มครอง Virtual Bank หลัง ธปท.ประกาศไลเซนส์ 3 ราย มั่นใจมีศักยภาพเงินกองทุน 1.37 แสนล้านบาท พร้อมรองรับ ประเมินเงินฝากปี 2566 คาดโต 4-6% อานิสงส์เปิดประเทศ-กิจกรรมเศรษฐกิจเดิน พร้อมกางโรดแมปยุทธศาสตร์ 5 ปี

วันที่ 19 มกราคม 2566 นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA เปิดเผยว่า สำหรับการคุ้มครองธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกเกณฑ์อนุญาตการจัดตั้ง โดย DPA จะเข้าไปคุ้มครองตามกฎหมายซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ที่กำหนดจำนวน 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้ความคุ้มครอง 32 แห่ง

โดย Virtual Bank ในประเทศไทย จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ 0.46% และนำส่งเข้า DPA 0.01% ของเงินฝากรูปเงินบาททั้งหมด โดยภายหลังจาก Virtual Bank ได้รับการอนุมัติจะต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลและระบบหลังบ้าน เพื่อให้มีการส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ Virtual Bank ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ส่วนที่เป็นธนาคารสามารถเชื่อมต่อได้เหมือนธนาคารทั่วไป ซึ่งคาดว่าหลังจาก Virtual Bank ประกอบธุรกิจ DPA ก็สามารถคุ้มครองได้ทันที

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์

“ความท้าทายของ Virtual Bank คือ จะต้องปรับตัวตามที่เราร้องขอในเรื่องของระบบข้อมูลการเชื่อมต่อ ซึ่ง DPA จะมีฟอร์แมตแนบไปพร้อมกับเกณฑ์ที่ ธปท.อนมัติการจัดตั้งว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งคิดว่าการที่ ธปท.อนุมัติเพียง 3 รายก็ถือว่าเป็นการคัดกรองว่าธุรกิจมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่มีการเปิด Virtual Bank ค่อนข้างเร็ว และก็ปิดเร็วเช่นกัน และอาจมีการกำหนดการทำธุรกิจ

เช่น รับฝากเงินอย่างเดียว หรือสามารถรับฝากและปล่อยกู้ หรือบางแห่งสามารถทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ ซึ่งของไทยไม่ได้กำหนดไว้ แต่ต้องการให้ Virtual Bank เข้าถึงกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการไดั และคาดว่าภายใน 2 ปีน่าจะเริ่มเห็นการเปิดการดำเนินธุรกิจตามที่ ธปท.ประกาศไว้”

นายทรงพลกล่าวต่อไปว่า ภายในปีนี้ DPA ได้วางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2566-2570 ถือเป็นแผนระยะที่ 4 นับตั้งแต่ก่อตั้ง DPA เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมทางการเงินและการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ และ 3 หน้าที่หลักคือ 1.คุ้มครองเงินฝากและสามารถจ่ายเงินให้ประชาชนผู้ฝากเงินภายใน 30 วัน ภายหลังจากสถาบันการเงินถูกเพิกถอน

และ 2.ทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี โดยหลังจากสถาบันการเงินถูกเพิกถอน โดย DPA จะทำหน้าที่นำสินทรัพย์ของสถาบันการเงินมาบริหารจัดการบัญชี และดูแลผลประโยชน์ของผู้ฝากเงิน ซึ่งหากสินทรัพย์สามารถขายไดัในราคาที่ดีผู้ฝากเงินและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับเงินมากขึ้น และ 3.การติดตามพัฒนานวัตกรรมทางเงินใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เช่น Virtual Bank หรือ e-Money เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ ๆ เช่น Data Analytic เป็นต้น

สำหรับภาพรวมเงินฝากในปี 2566 มองว่ายังเห็นการเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมา ทั้งการใช้จ่ายการบริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงิน จึงคาดว่าเงินฝากจะปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม โดย DPA มีความมั่นใจว่าฐานะเงินกองทุนที่มีอยู่ราว 1.37 แสนล้านบาท และมีสภาพคล่องสูง ซึ่งเพียงพอรองรับการคุ้มครองเงินฝากทั้งระบบ

ทั้งนี้ หากดูจากรายงานข้อมูลสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 พบว่ามีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 16.12 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 5.25 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 3.36% โดยส่วนใหญ่มาจากการพักเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ฝากรายใหญ่และกองทุนในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวน และภาคธุรกิจที่นำเงินมาพักไว้ในบัญชีเงินฝากเพื่อสร้างสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ

ขณะที่จำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 89.66 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 3.83 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 4.46% โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ฝากบุคคลธรรมดาที่มีเงินฝากน้อยกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนคิดเป็นสัดส่วน 98.01% หรือ 87.88 ล้านราย ของจำนวนผู้ฝากทั้งหมด ปัจจุบันกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีจำนวนรวม 1.37 แสนล้านบาท

“ในช่วงปี’63-65 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจค่อนข้างแย่ ทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนหายไป แม้สถานการณ์จะเป็นแบบนั้น แต่จะเห็นว่าจำนวนผู้ที่ได้รับคุ้มครองยังสูงถึง 98% หรือประมาณ 87.8 ล้านราย ถือเป็นตัวเลขค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาเซียน ซึ่งปีนี้คาดว่าเงินฝากยังโต เพราะโดยปกติเงินฝากไม่ควรโตน้อยกว่าจีดีพี และจะเห็นว่าตอนนี้แบงก์ก็มีการแข่งขันให้ดอกเบี้ยสูง จึงจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดเงินฝาก ส่วนฐานะเงินกองทุนของเรายังคงมีความมั่นคง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหากในอนาคตการชำระหนี้ของ FIDF ครบ”