ผู้ถือหุ้น IFEC ค้านประมูลซื้อโรงแรมดาราเทวี 3,950 ล้าน ราคาผิดปกติ

โรงแรมดาราเทวี

ผู้ถือหุ้น IFEC ค้านประมูลซื้อโรงแรมดาราเทวี วงเงิน 3,950 ล้านบาท พบแข่งไล่ราคาสูงผิดปกติ กังวลเอี่ยวกลุ่มทุนสีเทา เตรียมเดินหน้าฟ้องบอร์ด IFEC เหตุสร้างความเสียหายกับบริษัท จับตาวันที่ 13 ก.พ.นี้ IThermal ต้องจ่ายเงินค่าประมูลกรมบังคับคดี ชี้ไม่มีเงินจ่าย-ใช้วิธีการเดิมร้องขอศาลแพ่งขยายระยะเวลา ย้ำหาก ก.ล.ต.ไม่มีการดำเนินการเรียกกรรมการ IFEC เข้ามาชี้แจงใด ๆ เตรียมบุกสำนักงาน ก.ล.ต.

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวเยาวลักษณ์ ฤทธิ์สมจิตต์ ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้น บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC จากทั้งหมดกว่า 50 ราย ซึ่งมีสัดส่วนการถือครองหุ้นรวมกว่า 100 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการประมูลโรงแรมดาราเทวี จังหวัดเชียงใหม่ รอบล่าสุด ได้จัดแถลงข่าว “มหากาพย์ประมูลโรงแรมหรู 6 ดาว ดาราเทวี เชียงใหม่” ว่า

ตามที่บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด (IThermal) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ IFEC เป็นผู้ชนะการประมูลโรงแรมดาราเทวี รอบล่าสุด (ครั้งที่สาม) รวมเป็นเงิน 3,590 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้แข่งขันกับกลุ่มเมฆสวัสดิ์ โดยมีการเคาะราคาไปถึง 69 ครั้ง และเป็นการปิดประมูลที่มีราคาพุ่งสูงไปกว่าเดิมถึง 80% จากราคาเดิมที่ IThermal ได้ประมูลไป 2,012 ล้านบาท

นางสาวเยาวลักษณ์ ฤทธิ์สมจิตต์ ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้น บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

โดยราคาประมูลค่อนข้างผิดปกติมาก เพราะทางกลุ่มเมฆสวัสดิ์พยายามอย่างมากที่อยากจะได้โรงแรมดาราเทวี โดยมีส่วนต่างวงเงินประมูลกระโดดไปครั้งละ 15 ล้านบาท 30 ล้านบาท หรือไปจนถึง 100 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ IThermal แข่งสู้ แต่ทาง IThermal ก็ยังมีการประมูลแข่ง โดยขยับวงเงินขึ้นครั้งละ 1 ล้านบาท จนราคากระโดดเพิ่มสูงขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เคาะราคาปิดจบที่ 3,590 ล้านบาท

“เราสงสัยว่าทำไมรอบนี้ IThermal ถึงกล้าประมูลแข่งและยอมจ่ายแพง ทั้งที่รอบแรกราคาประมูล 2,012 ล้านบาท ก็ยังไม่ยอมจ่าย และกำลังสงสัยอีกว่าจะหาเงินจากไหนมาจ่าย ถ้าเขายอมให้กลุ่มเมฆสวัสดิ์ประมูลได้ในราคา 3,590 ล้านบาท ทาง IFEC และ IThermal ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองโรงแรมดาราเทวี จะได้กำไรเกือบ 2 พันล้านบาท สามารถนำเงินมาจ่ายหนี้ และมีกระแสเงินสดไปแสดงขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล เพื่อจะดำเนินธุรกิจได้ต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ที่ดีที่สุด แต่ทำไมไม่ทำ” นางสาวเยาวลักษณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 ก.พ. 2566 จะถึงกำหนดที่ทาง IThermal ต้องนำเงินมาชำระการประมูลให้กับกรมบังคับคดี ซึ่งเราคาดว่าคงไม่มีเงินมาจ่ายแน่นอน โดยคาดว่า IThermal จะใช้วิธีการไปร้องขอศาลแพ่งให้ขยายระยะเวลาเหมือนคราวที่แล้วตามสิทธิทางกฎหมายที่ไม่สุจริต ซึ่งไม่มีการเตรียมความพร้อมทางการเงินในการเข้าซื้อทรัพย์สิน แต่เป็นการใช้การวางเงินเพื่อยื้อระยะเวลาไปเรื่อย ๆ

ขณะที่ทั้ง IFEC และ IThermal เรียกได้ว่าอยู่ในฐานะที่ล้มละลายแล้ว ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้แล้ว โดยงบการเงิน IFEC งวด 9 เดือนปี 2565 ขาดทุนไปกว่า 6,300 ล้านบาท ซึ่งไม่มีศักยภาพที่จะซื้อทรัพย์ตามราคาประมูลได้แน่นอน และที่อ้างว่าจะมีผู้ร่วมทุนก็ไม่ยอมเปิดเผยว่าเป็นใครให้กับผู้ถือหุ้นรับทราบเลย

โดยคราวที่แล้วบอกว่ามีผู้ร่วมทุนคือบริษัทดาราแลนด์ ซึ่งก็พบว่ากรรมการดาราแลนด์ และมีผู้ร่วมทุนอีกรายคือบริษัทเชียงใหม่ซีเอ็ม ซึ่งตามงบการเงินปี 2564 มีรายได้แค่ 75 สตางค์ โดยคนที่ว่านี้อยู่หลังฉากแต่ก็ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมถึงจะต้องซื้อโรงแรมดาราเทวีให้ได้อีกครั้ง

“เราสงสัยว่าเขาอยากได้โรงแรมดาราเทวี เพื่อไปขายต่อให้กับบริษัทอื่น หรือกลุ่มทุนต่างชาติหรือเปล่า แต่การทำแบบนี้ไม่ได้รักษาผลประโยชน์ให้กับบริษัทเลย แต่เป็นการรักษาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง โดยใช้นอมินีของตัวเองเข้ามาดำเนินการประมูลโรงแรม เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนต่าง ๆ โดยที่หน้าฉากบอกว่าจะทำเพื่อบริษัท

เรากังวลอีกว่าจะมีกลุ่มทุนสีเทาอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะเขายอมทิ้งเงินมัดจำให้กับกรมบังคับคดีเป็นวงเงินกว่าร้อยล้านบาท โดยไม่สนใจอะไรเลย ทั้งที่มีมูลค่าค่อนข้างมาก ซึ่งเงินก้อนนี้สามารถนำไปจ่ายหนี้ได้พอสมควร” นางสาวเยาวลักษณ์กล่าว

นางสาวเยาวลักษณ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การประมูลโรงแรมดาราเทวีที่ผ่าน ๆ มาก็ไม่เคยขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุุ้น ไม่มีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ในการเข้ามาตรวจสอบหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อทรัพย์สินดังกล่าวเลย มีเพียงแค่การประชุมกรรมการบริษัทและไปดำเนินการเคาะราคาที่กรมบังคับคดีเลย และไม่มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการจะซื้อทรัพย์สินดังกล่าวด้วย

“เราจะเห็นว่าบอร์ด IFEC มีอดีตผู้พิพากษาจำนวน 2 ท่าน แต่ไม่เคยได้ให้ความคิดเห็นใด ๆ จึงสงสัยมากว่าจะมีลับลมคมในอะไรหรือเปล่า โดยผู้ถือหุ้นจะเดินหน้าฟ้องบอร์ด IFEC ในกรณีที่สร้างความเสียหายด้วยการอนุมัติให้ IThermal เข้าประมูลซื้อโรงแรมดาราเทวีโดยไม่มีความพร้อมต่อไป”

ทั้งนี้ภายหลังวันที่ 13 ก.พ. 2566 หากเป็นไปตามที่เราคาดคะเนไว้ และทางสำนักงาน ก.ล.ต.ไม่มีการดำเนินการเรียกกรรมการบริษัท IFEC เข้ามาชี้แจงใด ๆ ทางผู้ถือหุ้นจะไปตั้งโต๊ะแถลงข่าวหน้าสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีผ้าดำและพวงหรีดวางไว้หน้าตึกสำนักงาน

นายประสิทธิ์ วงศาสวัสดิ์ ทนายความ กล่าวเสริมว่า หากทาง IThermal ไม่วางเงินค่าประมูลในวันดังกล่าว ในมุมของกฎหมายนั้น ทางผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในการจะขายทอดตลาด ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินตาม IThermal ร้องขอ ผู้มีส่วนได้เสียจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี

ไทม์ไลน์มหากาพย์ โรงแรมดาราเทวี

พฤษภาคม 2563 : เหตุการณ์กลุ่มพนักงานโรงแรมดาราเทวีกว่า 100 คน ออกมาประท้วง ผู้บริหารชุดของนายทวิช ไม่จ่ายเงินเดือนพนักงาน มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

ตุลาคม 2563 : โรงแรมดาราเทวีประกาศปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากขาดสภาพคล่องในการ ดำเนินธุรกิจและไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ

พฤศจิกายน 2563 : โรงแรมดาราเทวีได้ตัดสินใจมีหนังสือเลิกจ้างพนักงานและปิดกิจการถาวร อีกทั้งยังขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ทั้งบริษัทโรงแรมดาราเทวีเองและบริษัทแม่อย่าง IFEC เอง

กุมภาพันธ์ 2564 : กรมบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวี ในวันที่ 18 ก.พ. 2564 ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 2,116 ล้านบาท และต้องวางเงินมัดจำที่ 110 ล้านบาท และในการประมูลครั้งแรกมีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียว ทำให้ต้องเลื่อนการประมูลไปครั้งที่ 2 ซึ่งราคาเริ่มต้นที่ 1,904 ล้านบาท

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 : อธิบดีกรมบังคับคดีสั่งเด้งฟ้าผ่าผู้อำนวยการกรมบังคับคดีเชียงใหม่ เนื่องจากมีคำสั่งโดยมิชอบ ในการงดขายโรงแรมดาราเทวีชั่วคราว โดยไม่มีเหตอุันสมควรในการงดขายทอดตลาด ทำให้การขายโรงแรมดาราเทวีจึงเดินหน้าต่อตามกำหนดเดิม

วันที่ 24 ธันวาคม 2564 : บริษัท IThermal เข้ามาประมูลเคาะราคาจบที่ 2,012 ล้านบาท

วันที่ 4 มกราคม 2565 : พวกเราไปร้องเรียน ก.ล.ต. และร้องเรียนตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ขอให้ระงับยับยั้ง การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายในการไปซื้อโรงแรมโดยที่ไม่มีความพร้อมจะสร้างความเสียหาย แต่ไม่มีใครสนใจ

วันที่ 24 มกราคม 2565 : ไปร้องอีกครั้งขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการตามกฎหมายกับการที่บริษัท IFEC ไปซื้อโรงแรมดาราเทวี โดยไม่มีเงินไปชำระราคา จะสร้างความเสียหายแน่นอน แต่หน่วยงานทั้งสองก็ไม่สนใจ

มกราคม 2565 : ถึงกำหนดชำระเงินส่วนที่เหลือ IThermal ก็ไม่ได้นำเงินมาจ่ายตามที่กรมบังคับคดีตามกำหนด และกรมบังคับคดีก็สั่งไม่ให้เลื่อนการชำระเงิน ด้วยเหตุว่าบริษัทอ้างว่าจะให้สินเชื่อไม่ใช่สถาบันการเงินและไม่มีศักยภาพพอที่จะให้สินเชื่อได้ รวมทั้งผู้ร่วมทุนก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้ในครั้งนั้น IThermal จึงไปร้องที่ศาลแพ่งขอขยายเวลาการชำระเงิน ศาลอนุโลมให้ 2 ครั้ง

วันที่ 30 กันยายน 2565 : ครั้งที่ 3 ทาง IThermal ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการจ่ายเงินที่เหลือ กว่า 1,900 ล้านบาท ศาลชั้นต้นยกคำร้องด้วยเหตุที่ว่าขอขยายระยะเวลามา 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถจ่ายเงินตามที่ศาลสั่งได้ ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าจำเลยต้องมีความพร้อม ก่อนที่จะเข้ามาซื้อทรัพย์สินมิใช่มาซื้อทรัพย์สินได้แล้วจึงไปวิ่งหาเงิน ทำให้เงิน 110 ล้านบาท ต้องถูกกรมบังคับคดีริบเงินไป ซึ่งกินเวลาไปกว่า 9 เดือน ที่ทรัพย์สินชิ้นนี้ยังไม่ได้รับการชำระเงินจากการที่ IThermal เข้ามาประมูลเพื่อทิ้งเงินประกันดังกล่าว

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 : ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องจากกรณี วันที่ 30 กันยายน 2565 และ

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 : กรมบังคับคดีเชียงใหม่ ก็ได้ออกประกาศขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวีอีกครั้ง ในวันที่ 27 มกราคม 2566 เริ่มต้น 2,012 ล้านบาท วางเงินประกันกับกรมบังคับคดี 220 ล้านบาท

วันที่ 27 มกราคม 2566 : ทาง IThermal กลับเข้ามาประมูลโรงแรมดาราเทวีอีกครั้งอย่างดุเดือด ซึ่งในครั้งนี้ IThermal แข่งกับกลุ่มเมฆสวัสดิ์ เพราะมีการเคาะราคาไปถึง 69 ครั้ง จบราคากันที่ 3,590 ล้านบาท