ตัวเลขการจ้างงานแข็งแกร่ง หนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐแข็งแกร่ง หนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ นักลงทุนคาดปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ส่งออกเดือนม.ค.โตต่ำกว่าคาดการณ์ ฉุดเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าสูงสุดที่ระดับ 35.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (27/2) ที่ระดับ 34.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/2) ที่ระดับ 34.81/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์

เงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการปรับมุมมองของนักลงทุนในตลาดที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% ในเดือน มิ.ย. และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวตลอดทั้งปีนี้ หลังตลอดทั้งสัปดาห์ทางการสหรัฐทยอยประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

ส่งออกม.ค.ของไทยโตต่ำกว่าคาดการณ์

ประกอบกับวันอังคาร (28/2) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน ม.ค. ปรับตัวลดลง 3.40% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 1.7% สวนทางกับฝั่งนำเข้าที่นำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.10% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยเดือน ม.ค. ขาดดุลอยู่ที่ -2.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขาดดุลอยู่ที่ -1.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าสูงสุดที่ระดับ 35.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สูงเกินคาด ได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไปที่แข็งแกร่ง เปิดเผยโดยกระทรวงพาณิชย์ปรับตัวขึ้น 5.4% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือน ธ.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 4.4%

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 67.0 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 66.4 จากระดับ 64.9 ในเดือน ม.ค.

สัญญาบ้านรอขายในสหรัฐเพิ่ม

นอกจากนี้ สัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังมาจากการที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ปรับตัวสูงขึ้น 8.1% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีดังกล่าวจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.0%

ทั้งนี้ ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เป็นมาตรวัดจำนวนสัญญาซื้อบ้านมือสองที่มีการเซ็นสัญญาแล้วแต่ยังไม่ได้ปิดการขาย และโดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน สำหรับการเซ็นสัญญาจนกระทั่งปิดการขาย อย่างไรก็ดี ในวันพุธ (1/3) เงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างมากภายในวัน หลังได้รับแรงหนุนจากการที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันที่ 1 มี.ค.ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ก.พ.อยู่ที่ระดับ 52.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.1 ในเดือน ม.ค. และเป็นการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2555 โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นหลังจากรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์

ข้อมูลจาก NBS ยังระบุด้วยว่า ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 56.3 พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากระดับ 54.4 ในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นสัญญาบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ก.พ. 2566 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50 ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 50.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.8 ในเดือน ม.ค.

กกร.คาดส่งออกปี 2566 ส่อหดตัว -1% ถึง 0%

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2566 มีโอกาสหดตัวในกรอบ -1 ถึง 0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1-2% ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกประเทศคู่แข่งของไทยในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่มีทิศทางหดตัวเช่นเดียวกัน โดยได้รับผลกระทบจากกิจกรรมภาคการผลิตของโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลังหลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้อานิสงส์จากโควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง ทั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังเคลื่อนไหวผันผวนอยู่ในกรอบเช่นเดียวกับเงินบาท

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (2/3) กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือน ม.ค. 2566 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 20,249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% หดตัวมากกว่าตลาดคาดว่าหดตัว 1% โดยมูลค่าการส่งออกลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเดือน ธ.ค. 2565 ที่ลดลง 14.6% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 24,899 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% ส่งผลให้เดือนมกราคมไทยขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 4,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 2566 นั้นลดลงในทุกกลุ่มสินค้า

เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว

โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันการส่งออกของไทยคืออัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.65-35.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/3) ที่ระดับ 34.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (27/2) ที่ระดับ 1.0553/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/2) ที่ระดับ 1.0586/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของสหรัฐ หลังสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างอ่อนแอ โดย GfK ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยตลาดเปิดเผยผลสำรวจว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในเดือน มี.ค. เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -30.5 ในช่วงเช้าสู่เดือน มี.ค. จากระดับ -33.8 ในเดือน ก.พ. แต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ระดับ -30.4

ทั้งนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินยูโรกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากเผชิญแรงขายทำกำไร หลังจากปรับตัวแข็งค่าอย่างมากในระหว่างวันของวันพุธ (1/3) ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.531-1.692 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/3) ที่ระดับ 1.0622/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (27/2) ที่ระดับ 136.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/2) ที่ระดับ 135.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนอ่อนค่าลง หลังโดยได้รับแรงกดดันจากคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินเป็นเวลานาน

ประกอบกับนายคาซูโอะ อุเอดะ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวย้ำเกี่ยวกับการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษว่า ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ผลกระทบทางบวกยังคงมีมากกว่าผลกระทบทางลบ อีกทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อเช้าวันอังคาร (28/2) ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค.เมื่อเทียบรายปี ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.3% ดีกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 4.0%

ทั้งนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์เงินเยนยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ภายใต้ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและการที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดไว้

นอกจากนี้ นายฮาจิเมะ ทาคะนะ กรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ให้ความเห็นว่า ญี่ปุ่นควรดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างปัจจุบันต่อไป เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ญี่ปุ่นเผชิญ ณ ขณะนี้นั้นเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.25-137.10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/3) ที่ระดับ 136.36/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ