นักวิเคราะห์จับตาหุ้นลีสซิ่ง เสี่ยงถูกคุมเข้มปล่อยสินเชื่อ

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จับตาหุ้นลีสซิ่ง เสี่ยงถูกคุมเข้มปล่อยสินเชื่อ ประเมินหนี้เสียพีกไตรมาส 2/66 ครึ่งปีหลังทยอยลง แนะ SAWAD-THANI กำไรโตดีต่อเนื่อง

 

วันที่ 9 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 7 มี.ค. 2566 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. …. เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงจนเกินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

รวมถึงเพื่อให้มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกันหารือเพื่อกำหนดแนวทางให้เกิดความเท่าเทียมในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจต่อไป

จับตามาตรการแบงก์ชาติ

นายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นดังกล่าวอาจยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมา ทำให้ภาพในระยะสั้นคงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่ทาง สคบ.ได้เข้ามาดูแลผู้บริโภคในส่วนของเช่าซื้อรถยนต์ รถยนต์ใช้แล้ว และรถจักรยานยนต์ โดยได้มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยไปเมื่อปลายปี 2565 และได้บังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

  • รถยนต์ใหม่ เพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ต่อปี
  • รถยนต์ใช้แล้ว เพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี
  • รถจักรยานยนต์ เพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 23% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ธปท.อาจมองว่าแนวโน้มในอนาคตปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีมูลค่าหนี้สูง ดังนั้น ต้องติดตามในระยะถัดไปว่าแบงก์ชาติจะมีการออกมาตรการอะไรมาควบคุมตรงนี้หรือไม่

ซึ่ง ธปท.อาจจะมีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เช่น อาจจะมีมาตรการกำหนดวงเงินการผ่อนของลูกหนี้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ เพื่อทำให้หนี้เสีย (NPL) ของกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งดีขึ้น แต่ทั้งนี้ อาจต้องแลกมากับการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ (Loan Growth) ที่อาจลดลง

เอ็นพีแอลพีกไตรมาส 2

เรามองว่าภาพรวม NPL ของธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งยังเป็นขาขึ้นอยู่ น่าจะไปพีกช่วงไตรมาส 2/2566 และครึ่งปีหลังของปีนี้น่าจะทยอยลดลง โดยกลยุทธ์การลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ แนะนำ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) เพราะว่าพอร์ตสินเชื่อมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) จะอยู่ในระดับต่ำแค่ 54% แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) Loan Growth ไม่โตเพราะชะลอการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น NPL ปัจจุบันอยู่แค่ 2.5% ไม่ได้ปรับขึ้นมาก จึงไม่ต้องเร่งตั้งสำรองมาก ปีนี้จึงมองว่าแนวโน้มกำไรน่าจะเติบโตได้ดี

และ บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ตามแนวโน้มกำไรเติบโต และคาดกำไรไตรมาส 1/2566 จะกลับมาเติบโตได้จากไตรมาส 4/2565 ที่อ่อนตัวไปค่อนข้างมากจากผลกระทบเรื่องน้ำท่วม ลูกหนี้บางรายผ่อนไม่ไหว ต้องตั้งสำรองมาก และมีการขาดทุนรถยึดด้วย โดยระดับ Coverage Ratio ยังค่อนข้างสูงที่ 110% ส่วนเอ็นพีแอลยังปรับขึ้นไม่มาก