แบงก์จ่อขายหนี้เน่าทะลุ 2 หมื่นล. บสก.รอประมูลก้อนโต-หนุนลดเอ็นพีแอล

บสก.ชี้เทรนด์ปีนี้แบงก์ขนหนี้เสียขายล้นตลาดทะลุยอดปี’60 ที่สูง 2 หมื่นล้านบาท แถมเป็นลูกหนี้สด-ไม่รอถึงขั้นฟ้องร้อง เน้นขายทิ้งหวังลดเอ็นพีแอล-ลดต้นทุนแบก ฟาก บสก.ตั้งวงเงินรับซื้อกว่า 1 หมื่นล้านบาท พร้อมชงบอร์ดของบฯ 200 ล้านบาทรีโนเวตทรัพย์รอขาย

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ บสก. (BAM) เปิดเผยว่า ปีนี้แนวโน้มสถาบันการเงินทั้งระบบจะนำหนี้เสียหรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ออกมาขายในระดับที่มากกว่าปีที่แล้วที่แบงก์ต่าง ๆ ได้มีการนำออกมาประมูลราว 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ทั้งระบบยังมีระดับเอ็นพีแอลที่สูงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายที่ต้องการจะลดเอ็นพีแอลให้ลดลง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะต้องนำหนี้เสียดังกล่าวออกมาขายเร็วขึ้นกว่าอดีต

โดยในส่วนของ บสก.ประเมินว่า ปีนี้จะเข้าไปรับซื้อหนี้เสียดังกล่าวในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ซื้อหนี้เสียเข้ามาประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของยอดหนี้รวมที่แบงก์นำออกมาประมูลขาย

“การขายหนี้เน่าของแบงก์ ปัจจุบันหนี้ไม่ถึง 6 เดือน แบงก์ก็เตรียมนำออกมาประมูลขายแล้ว บางหนี้ที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง แบงก์ก็นำออกมาขายแล้ว ซึ่งเกือบครึ่งของพอร์ตที่เรารับซื้อมาแต่ละปี ซึ่งจะต่างกับอดีตที่ต้องรอให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องหรือขึ้นศาล จนถึงขั้นไม่สามารถตามหนี้ได้ เจ้าหนี้ถึงจะขายหนี้ออกมาได้ แต่ตอนนี้สังเกตได้ว่าหนี้ของระบบแบงก์มีความสดใหม่ขึ้น เพราะแบงก์มองดูแล้วว่าการเอาหนี้มาบริหารเองก็เป็นต้นทุน และไม่รู้ว่าจะสามารถคืนหนี้ได้หรือไม่” นายบรรยงกล่าว

สำหรับการดำเนินธุรกิจของ บสก.ในปีนี้ นอกจากจะเข้าไปช่วยระบายหนี้จากธนาคารต่าง ๆ แล้ว บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะช่วยแก้หนี้เสียและต่อลมหายใจให้กับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อยมากขึ้น โดย บสก.จะมีการออกแพ็กเกจแก้หนี้ให้กับลูกหนี้ภายใน เม.ย.นี้ ซึ่งมีทั้งการลดดอกเบี้ย การยืดการผ่อนชำระเพื่อเพิ่มศักยภาพการผ่อนชำระให้แก่ลูกหนี้เหล่านี้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถเดินหน้าธุรกิจได้โดยไม่จำเป็นต้องขายธุรกิจ

“วิธีเข้าไปช่วย คือ ถ้าเราเห็นช่องทางว่า เขาสามารถทำธุรกิจได้ต่อ เราก็อาจจะเข้าไปช่วยประคองให้เขาสามารถทำธุรกิจต่อไป เช่นทรัพย์บางส่วนที่เขามี ก็อาจให้ขายเพื่อนำมาชำระหนี้บางส่วน ขณะที่อีกส่วนก็สามารถใช้ทำธุรกิจได้อย่างเดิม หรืออาจขายทั้งหมดแล้วให้เขาซื้อบ้านซื้อที่จาก บสก. เพื่อนำไปทำธุรกิจใหม่” นายบรรยงกล่าว

นอกจากนี้ ปีนี้ บสก.กำลังเตรียมเสนอคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บสก. พิจารณางบประมาณ 200 ล้านบาท สำหรับรีโนเวต (ปรับปรุงซ่อมแซม) ทรัพย์ที่รอการขาย เพื่อให้สภาพทรัพย์

ดูดีขึ้น ช่วยทำให้สามารถขายทรัพย์ออกได้เร็วขึ้น พร้อมกันนี้ ปีนี้ บสก.ยังได้มีการปรับโมเดลการดำเนินงานให้สอดรับกับโลกดิจิทัลแบงกิ้ง โดยจะมีการนำระบบคิวอาร์โค้ดมาใช้ในการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว หรือการใช้โดรนในการส่องดูทรัพย์ที่ลูกค้าสนใจหรือต้องการดูรายละเอียดของทรัพย์ที่จะซื้อได้รอบด้านและช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น