บาทอ่อนค่า หลังประธานเฟดส่งสัญญาณ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าที่คาด

กรอบเงินบาท
ภาพจาก PIXABAY

เงินบาทอ่อนค่า หลังประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าที่คาด หลังตัวเลขเศรษฐกิจในระยะนี้แสดงให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อยังสูงกว่ากรอบเป้าหมาย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 19 เมษายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/4) ที่ระดับ 34.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/4) ที่ระดับ 34.29/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินบาทเข็งค่าตามการอ่อนค่าลงของดอลลาร์ หลังจากตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนออกมาแข็งแกร่งเกินคาด โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานในวันอังคาร (18/4) ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนเติบโตขึ้น 4.5% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบรายปี หลังจากไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้วเติบโตเพียง 2.9% รวมถึงอัตราการเติบโตนี้อยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 4.0%

นอกจากนี้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือน มี.ค.เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับขึ้น 2.4% ในเดือน ม.ค.-ก.พ. ส่วนยอดค้าปลีกของจีนในดือน มี.ค. แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ที่ 10.6% หลังจากในดือน ม.ค.-ก.พ. ขยายตัว 3.5% ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด ได้ส่งผลให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลก นำไปสู่การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามในช่วงวลาการซื้อขายระหว่างวัน ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวเข็งค่าขึ้น ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 2 ปี ที่พุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ 4.231% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 1 ปีขยับขึ้นสู่ 3.578% ในช่วงเช้าของวันนี้ หลังจากนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า เฟดควรที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในระยะนี้แสดงให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อยังคงสูงกว่ากรอบเป้าหมาย

Advertisment

อีกทั้งถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จะมีการเติบโตที่ชะลอลง ทว่าโดยรวมยังคงความแข็งแกร่งอยู่และเขาได้ให้ความเห็นสนับสนุนในการให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง หลังจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 2.8% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน 2565-มีนาคม 2566) อยู่ที่ 5.86% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน

และ กนง. ได้ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ถึง ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 จะอยู่ที่ 2.6% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% เนื่องจากเผชิญแรงกดดันด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นสำคัญ โดยราคาพลังงานในประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเชียและยูเครน ทำให้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงที่ 20.06%

อย่างไรก็ตาม กนง.ได้ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 โดยได้ทยอยลดลงต่อเนื่อง ตามที่ประเมินไว้ และคาดว่าจะเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 จากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มลดลงตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก

Advertisment

ทั้งนี้ กนง.จะติดตามและวิเคราะห์ความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปอย่างหมาะสมและทันการณ์ โดยพร้อมปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบทอ่อนค่าตามสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค และนักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรในตลาดพันธบัตร ซึ่งคิดเป็นยอดขายสุทธิ 4,780 ล้านบาท โดยนับตั้งแต่ต้นเดือนตลาดพันธบัตรเผชิญแรงขายสุทธิกว่า 37,342 ล้านบาท ส่งผลให้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.23- 34.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.48/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/4) ที่ระดับ 1.0981/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/4) ที่ระดับ 1.0973/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตามในระหว่งวันยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าสอดคล้องกับการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์

อีกทั้งสถาบัน ZEW ของประเทศยอรมนีระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศประจำเดือนเมษายนออกมาอยู่ที่ระดับ 4.1 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 15.5 และต่ำกว่าในเดือนมีนาคมที่ระดับ 13.0 ส่งผลให้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0944 – 1.0983 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0959/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/4) ที่ระดับ 134.01/134.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/4) ที่ 134.07/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายคาซูโอะ ยูเอดะ ได้ส่งสัญญาณเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศในการประชุมของกลุ่มประเทศ G7 ว่าญี่ปุ่นยังคงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแบบพิเศษเช่นเดิม

เนื่องจากการปลี่ยนผ่านนโยบายที่ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ต้องใช้เวลา เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินไปอาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่สภาาวะถดถอยและเขามองว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศจะลดลสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ผ่าต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ลดลง โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.92-134.92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (19/4), ดัชนีผู้บริ โภคของสหราชอาณาจักร เดือนมีนาคม (19/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคยของยูโรโซน เดือนมีนาคม (19/4), รายงานดัชนีการผลิตจากเฟดรัฐฟิลาเดลเฟีย (20/4),

รายงานผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/4), ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐเดือนมีนาคม (20/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือนมีนาคม (21/4), ตัวเลขส่งออก-นำเข้าของไทย เดือนมีนาคม ผ21/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซน เดือนเมษายน (21/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรับ เดือนเมษายน (21/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.00/-9.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.95/-6.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ