ก.ล.ต.ไฟเขียว GFC จ่อขายไอพีโอ 60 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้า mai ภายในปีนี้

ก.ล.ต. ไฟเขียว GFC จ่อขายไอพีโอ 60 ล้านหุ้น

ก.ล.ต.ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่ง บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ หรือ GFC ผู้นำให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก รายแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้นภายในปีนี้ จ่อระดมทุนขยายสาขาใหม่รองรับการเติบโตในอนาคต

วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GFC กล่าวว่า ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ GFC ที่ได้ยื่นขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 27.27% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ คาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปี 2566 ในหมวดธุรกิจบริการ GFC ถือเป็นหนึ่งในผู้นำให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากรายแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบัน GFC มีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 160 ล้านหุ้น และภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทัพย์ฯ จะมีหุ้นสามัญเพิ่มเป็น 220 ล้านหุ้น และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์ สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำและคำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

ปัจจุบันบริษัทมีบริษัทย่อยจำนวน 2 บริษัท (“กลุ่มบริษัท”) 1) บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด (“GSM”) ดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (next generation sequencing : NGS) และ 2) บริษัท จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด (“GFCFG”) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในกิจการอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท

ทั้งนี้ ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2) การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (intrauterine insemination) 3) การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (intracytoplasmic sperm injection) 4) การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (next generation sequencing : NGS)

และ 5) การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ สำหรับลูกค้าของกลุ่มบริษัท ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าผู้ที่วางแผนการมีบุตรในอนาคต, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยที่สนใจอยากมีบุตร, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยกับชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร และกลุ่มลูกค้าคู่สมรสชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร

นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัท เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถโอกาสการเติบโตในอนาคต สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ดีที่สุด ภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

โดยจะเห็นได้จากการนำเทคโนโลยี early embryo viability assessment (EEVA) ซึ่งเป็นการนำระบบ AI จากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยประเมินตัวอ่อน ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทยในปี 2563 โดยได้พัฒนาให้สามารถแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับตัวอ่อน และวิเคราะห์คุณภาพของตัวอ่อนอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และยึดมั่นในหลักจริยธรรม

สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ใช้ลงทุนขยายคลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ พระราม 9 ตลอดจนการลงทุนในสาขาย่อยอื่น ๆ ตามพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพและมีฐานลูกค้าผู้มีบุตรยาก เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการเพิ่มศูนย์ฝึกอบรม นักเทคนิคการแพทย์ ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัท ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวสำหรับรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งชาวไทยและที่เป็นชาวต่างชาติในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อหาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต และนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของกลุ่มบริษัท

จากความทุ่มเทในการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจใน 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 ถึงปี 2565 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการ 214.42 ล้านบาท 242.12 ล้านบาท และ 275.91 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการให้บริการของกลุ่มบริษัทสอดคล้องกับจำนวนผู้เข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งกลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก ด้วยวิธี ICSI เป็นรายได้หลัก

ขณะที่กำไรสุทธิปี 2563 ถึงปี 2565 เท่ากับ 66.55 ล้านบาท 69.63 ล้านบาท และ 65.68 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 31.04 ร้อยละ 28.76 และร้อยละ 23.81 ของรายได้จากการให้บริการ สาเหตุที่กลุ่มบริษัทมีกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิในปี 2565 ลดลงเมื่อเทียบจากปี 2564 เนื่องมาจากกลุ่มบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภายหลังจากคลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ พระราม 9 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ จะส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น