ดอลลาร์เคลื่อนไหวกรอบจำกัด ภายหลังสหรัฐเผยตัวเลข CPI

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์เคลื่อนไหวกรอบจำกัด ภายหลังสหรัฐเผยตัวเลข CPI เดือนเมษายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/5) ที่ระดับ 33.59/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งตัวจากระดับปิดตาดเมื่อวันพุธ (10/5) ที่ระดับ 33.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ภายหลังที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนเมษายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ระดับ 5.0% รวมทั้งชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนก่อนหน้า สำหรับดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% เทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของตลาดและชะลอตัวจากระดับ 5.6% ในเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 92.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ และให้น้ำหนักเพียง 7.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยด้านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 โดยการส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า คาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น

รวมทั้ง GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งครึ่งปีแรกจะขยายตัว 2.9-3.0% และในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่า 4.0% ส่งผลให้ปี 2566 GDP ของไทยจะขยายตัว 3.6% สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อช่วงครึ่งปีแรกยังสูงที่ 3.3% แต่ช่วงครึ่งหลังเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่ากรอบอยู่ที่ 2.5%

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงติดตมสภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพ เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.35-33.79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.73/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/5) ที่ระดับ 1.0987/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/5) ที่ระดับ 1.0957/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในยูโรโซนในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิกเกอิว่า “มีหลายปัจจัยที่เสี่ยงกระตุ้นให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับภาคการธนาคาร แต่นางลาการ์ดก็ชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นไม่ได้อยู่ในการคาดการณ์พื้นฐานสำหรับปี 2566 ของ ECB” และได้กล่าวเป็นนัยอย่างชัดเจนถึงการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภครายปีเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 7% ในยูโรโซน เทียบกับระดับ 5% ในสหรัฐ และ 3% ในญี่ปุ่น โดยเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเร็วเป็นพิเศษในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยเงินเฟ้อพุ่งทะลุ 10% ในประเทศแถบทะเลบอลติก ทั้งนี้มีรายงานระบุว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนและจุดชนวนให้เกิดการผละงานประท้วงในยุโรป เพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าจ้าง โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0925-1.0997 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0926/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/5) ที่ระดับ 134.09/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/5) ที่ 135.16/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นเผยการใช้จ่ายของผู้บริโภคในญี่ปุ่นลดลงเกินคาดในเดือนมีนาคมในอัตรารวดเร็วที่สุดในรอบ 1 ปี ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริง (real wages) ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน อันเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเผชิญความยากลำบากในการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังจากถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด้านนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่นในวันนี้ว่า เขาตั้งใจที่จะยกเลิกนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control-YCC) หากตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายของ BOJ ได้อย่างยั่งยืน โดยระหว่าวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.90-134.56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.77/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางของอังกฤษ (BoE) (11/5) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเมษายน ของสหรัฐ (11/5) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (11/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.25/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.40/-10.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ