จับเทรนด์กองทุนรวมน่าซื้อ บลจ.ชู “หุ้นเทค-ตราสารหนี้” โดดเด่น

บดินทร์ พุทธอินทร์-สาห์รัช ชัฏสุวรรณ-ชวินดา หาญรัตนกูล

การลงทุนในปี 2566 ดูเหมือนความกังวลต่าง ๆ จะคลี่คลายลงไปมาก แต่ตลาดก็ยังดูซึม ๆ ไม่โดดเด่นนัก เมื่อโฟกัสลงไปที่อุตสาหกรรมกองทุนรวม พบว่า หลายกองทุนฟื้นตัวกลับมาได้ดีขึ้นมาก หลังจากปี 2565 ผลตอบแทนติดลบหนัก ส่วนในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไรต่อ บรรดาผู้จัดการกองทุน ได้สะท้อนมุมมองและคำแนะนำการลงทุน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในรูปแบบกองทุนรวม

โดย “ชวินดา หาญรัตนกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทยจำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ภาพของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อาจเป็นตัวที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนได้ แต่คงไม่ได้กระทบทุกกลุ่ม

เนื่องจากในภาพใหญ่หากเศรษฐกิจถดถอยเป็นเรื่องที่สามารถควบคุมได้และเงินเฟ้อสหรัฐ ก็มีแนวโน้มที่ปรับลดลง น่าจะทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเบาลงหรืออาจจะใกล้จบลงแล้ว ในมุมสินทรัพย์ต่าง ๆ ถึงจะไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาได้แบบโดดเด่น แต่จะเห็นทิศทางผ่อนคลายลง จากที่เคยตึงเครียด ซึ่งเมื่อปัญหาที่คอยกดดันการลงทุนคลี่คลาย ทำให้นักลงทุนมีความกล้าที่จะกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น

“เชื่อว่าตลาดปรับตัวมาตลอดและจะค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ผ่านมาผลตอบแทนการลงทุนต่าง ๆ มีการลดลงตามทิศทางของตลาด ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะทำให้นักลงทุนกลับมามีความเชื่อมั่นในเรื่องของการลงทุน

ดังนั้นทิศทางการลงทุนดีขึ้นและน่าจะต่อเนื่องไปในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ที่เริ่มมีเสถียรภาพ มีการผันผวนน้อยลง ตราสารหนี้จึงเป็นสินทรัพย์อันดับแรกที่แนะนำเพราะถ้าดอกเบี้ยเริ่มหยุดก็จะมีความเป็นบวกต่อตลาดตราสารหนี้มากขึ้น”

ขณะที่ “สาห์รัช ชัฏสุวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า ปีนี้การลงทุนมีทิศทางที่กลับมาเป็นแนวโน้มขาขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ที่มีปัจจัยบวกจากเรื่องนโยบายของเฟดที่เริ่มเบาลงตามแนวโน้มเงินเฟ้อที่ทยอยปรับลด

รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยที่แน่นอนว่าทุกคนคงรู้ว่า อย่างไรก็คงต้องเกิดขึ้น แต่การเกิดขึ้นคงเป็น mild recession หรือชะลอตัวแบบไม่รุนแรง และเชื่อว่าหลายคนรับรู้ข่าวเหล่านี้ไปมากพอสมควรแล้ว

โดยตั้งแต่ต้นปีมาจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลายสินทรัพย์ที่เคยติดลบหนัก ก็ฟื้นตัวกลับมา เช่น หุ้นเทคโนโลยี, หุ้นจีน หรือหุ้นยุโรป นอกจากนี้ กลุ่มตราสารหนี้ก็กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น จากอนาคตหากดอกเบี้ยสหรัฐ อ่อนตัวลงตามทิศทางการอ่อนตัวของเงินเฟ้อ ก็มีโอกาสที่การลงทุนในตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในรูปของ capital gain อีกด้วย

“ช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดแนวโน้มการลงทุนยังมีทิศทางที่ดี ซึ่งหากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้ก็แนะนำลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี เพราะเป็นกลุ่มที่ในระยะยาวยังมีการเติบโตอีกมาก ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยหรือต้องการกระจายพอร์ตลงทุนก็แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ได้แต่ต้องเลือกตราสารหนี้คุณภาพเป็นหลัก”

ฟาก “บดินทร์ พุทธอินทร์” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าเฟดน่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่ได้มีท่าทีที่จะปรับลดลง สวนทางกับตลาดที่มองว่าเฟดน่าจะต้องมีการปรับดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ จากความไม่แน่นอนเรื่องธนาคารล้มที่ยังมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้อีก

และมุมมองของ Bloomberg Consensus มีการคาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะหดตัวติดต่อกันสองไตรมาส ในไตรมาส 3 และ 4 แสดงถึงการเกิดเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ตลาดคิดว่าเฟดจะต้องลดดอกเบี้ย

“ดอกเบี้ยน่าจะไม่ใช่ประเด็นหลักที่กดดันตลาด แต่จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจถดถอยและภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเป็นตัวกดดันอยู่ แต่โดยภาพรวมคาดว่าการลงทุนต่าง ๆ มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากต้นปี แต่ผลตอบแทนอาจจะเติบโตในอัตราที่น้อยลงและเริ่มเห็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น”

“บดินทร์” กล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ชะลอ คือกลุ่มเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีแม้จะปรับขึ้นมากแล้วแต่มองว่ายังมีโอกาสปรับขึ้นต่อได้อีกประมาณ 5-10% โดยเน้นไปที่หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐ เพราะมีสภาพคล่องมั่นคง ขณะที่กลุ่มภาคการผลิต, พลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะได้รับผลกระทบ

“หากเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวแนะนำให้มีพันธบัตรสหรัฐ ติดพอร์ตเอาไว้ เพราะหากเศรษฐกิจถดถอยผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวลง แต่ราคาตราสารหนี้จะปรับขึ้น ส่วนในเอเชีย แนะนำลงทุนหุ้นจีน, เกาหลีและไต้หวัน ถือว่าน่าสนใจ” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) กล่าว