เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังนักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์

เงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังนักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ เหตุมีแรงหนุน หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้น 358,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่งในเดือนเมษายน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/6) ที่ระดับ 34.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (31/5) ที่ระดับ 34.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เมื่อคืนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลง เป็นผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า

ขณะที่นักลงทุนจับตาสภาคองเกรสสหรัฐเตรียมลงมติร่างกฎหมายปรับเพิ่มเพดานหนี้หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายการขยายเพดานหนี้ ด้วยคะแนนเสียง 314 ต่อ 117 เสียง ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์

โดยในช่วงบ่ายวันนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง โดยยังมีแรงหนุนหลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงาน (JOLTS) ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด เพิ่มขึ้น 358,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่งในเดือน เม.ย.

สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 9.375 ล้านตำแหน่ง หลังจากปรับตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานนั้น เป็นปัจจัยหนุนการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ เนื่องจากพนักงานจะมีอำนาจต่อรองในการขอขึ้นค่าแรงต่อนายจ้าง ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อเฟดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.

ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ 66.4% ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.อีก 0.25% สู่ระดับ 5.22-5.50% และให้น้ำหนักเพียง 33.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.61-34.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปีในวันที่ 31 พ.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติมาแล้ว 6 ครั้งติดต่อกัน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในภาวะผ่อนคลาย และเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะขยายตัวไม่เต็มที่

ขณะเดียวกันก็ยังมีความไม่แน่นอนในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองของไทยภายหลังการเลือกตั้ง ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจของไทยเดือน พ.ค. หดตัวลง สวนทางกับที่คาดการณ์ โดยออกมาที่ 49.7 จุด เทียบกับที่ตลาดเคยคาดไว้ที่ 54.6 จุด

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/6) ที่ระดับ 1.0689/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (31/5) ที่ระดับ 1.0673/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้า โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0660-1.0697 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0691/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/6) ที่ระดับ 139.31/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (31/5) ที่ 139.88/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนการเปิดเผยผลสำรวจภาคเอกชนระบุในวันนี้ (1/6) ว่า กิจการภาคการผลิตของญี่ปุ่นขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนในเดือน พ.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ รวมถึงการคาดการณ์เชิงบวกในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของ Jibun Bank อยู่ที่ 50.6 ในเดือน พ.ค. ซึ่งอยู่เหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว และถือเป็นอัตราการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบหนึ่งปี โดยระดับ 50 ขึ้นไปบ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัวผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่แตะระดับสูงสุดในรอบ 12 และ 13 เดือนตามลำดับ เนื่องจากความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภคช่วยหนุนอุปสงค์

อย่างไรก็ดี นายกูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า BOJ ควรเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงหากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงเหนือระดับคาดการณ์ และควรเตรียมความพร้อมที่จะใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินหากอัตราเงินเฟ้ออยู่เหนือระดับเป้าหมายของ BOJ เป็นเวลานานเกินไป โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.95-139.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 139.82/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ทั้งดัชนีภาคการผลิตเดือน พ.ค. (1/3), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ค. จาก ADP (1/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (1/6), และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค. (2/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.5/-10.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.5/-7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ