นโยบายการคลัง กับธุรกิจประกันภัยในอนาคต

คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี)

จากที่ได้ฟังบทสัมภาษณ์ของคุณศิริกัญญา ตันสกุล หรือคุณไหม ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากรายการลงทุนแมน การให้สัมภาษณ์ในช่วงแรกพูดถึงนโยบายของพรรคที่พวกเรารู้กันอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังเป็นการถาม-ตอบประเด็นต่าง ๆ ที่หลายคนสงสัย ว่าถ้านำนโยบายเหล่านี้มาใช้จริง ธุรกิจประกันภัยจะมีผลกระทบในทิศทางไหนบ้าง

อย่างแรก ถ้าสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ ก็มีแนวโน้มที่คนจะสนใจซื้อประกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต หรือประกันวินาศภัย เพราะก่อนที่คนจะตัดสินใจซื้อประกัน จะต้องจัดการเรื่องปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ ณ เวลานั้นให้ดีเสียก่อน ถึงจะให้ความสนใจเรื่องความมั่นคงในระยะยาวให้กับคนรอบข้าง ซึ่งส่วนนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยบริหารความเสี่ยง และลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

อย่างที่สอง เนื่องจากธุรกิจประกันภัย เป็นอุตสาหกรรมภาคบริการ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผมมองว่ามันไม่ได้มีผลกระทบกับธุรกิจประกันภัยโดยตรง แต่อาจจะมีผลกระทบในทางอ้อม ที่เกิดจากอัตราเงินเฟ้อ (ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ยิ่งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อัตราเงินเฟ้อจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น)

มีผลให้ทุนประกันที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เนื่องจากทุนประกันของกรมธรรม์เดิมมีอัตราคงที่ จำเป็นต้องซื้อทุนประกันเพิ่มเพื่อชดเชยเรื่องเงินเฟ้อ จึงจำเป็นต้องซื้อประกันที่มีความคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น

อย่างที่สาม ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวสูงขึ้น ส่งผลให้เป้าหมายเงินเก็บสะสมยามเกษียณ เริ่มห่างไกลออกไปอีก โดยเฉพาะกรมธรรม์สะสมทรัพย์ที่ให้เงินก้อนตอนอายุ 60 ปี หรือครบกำหนดสัญญา หรือประกันบำนาญ ที่มีการจ่ายเงินก้อนอัตราคงที่ในแต่ละงวด ก็จะสู้สภาวะเงินเฟ้อไม่ไหว หรือไม่ก็ต้องขายประกันตัวใหม่ที่คุ้มครองเรื่องอัตราเงินเฟ้อไปด้วย

อย่างที่สี่ การเก็บภาษีจากกำไรเงินลงทุน Capital Gains Tax (CGT) ได้มีการพูดคุยกันหลายครั้ง ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะทำให้ตลาดทุนที่เป็นตลาดหุ้นเกิดผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ธุรกิจประกันที่อยู่ภายใต้กฎหมายธุรกิจเฉพาะ Specific Business Tax (SBT) ซึ่งต้องตามกันต่อว่าจะมีผลกระทบหรือไม่

แต่ในความคิดส่วนตัวของผม ผมมองว่าไม่มีผลกระทบ ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบของบริษัทประกันในการลงทุนมากขึ้น และในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะทำให้เม็ดเงินที่หนีจากตลาดหุ้น จะมาอยู่ที่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และประกันบำนาญเพิ่มมากขึ้น

และอย่างสุดท้าย ภาษีความมั่งคั่ง Wealth Tax จากผู้ที่มีสินทรัพย์ (รวมถึงหุ้นที่ถือด้วย) หักลบกับหนี้สิน หากเกิน 300 ล้านบาท จะต้องถูกเก็บภาษีที่อัตรา 0.5% แต่ต้องเข้าใจกันก่อนว่า สินทรัพย์ในที่นี้ รวมถึงมูลค่าของประกันชีวิตหรือประกันบำนาญด้วยหรือไม่ ซึ่งจะต้องให้บริษัทประกันคุยกัน

แต่ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าไม่ควรรวมเข้าไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับภาษีมรดก ในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยจะไม่ถูกนับรวม

ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องทลายนายทุนผูกขาด โดยเฉพาะธุรกิจน้ำเมา ส่วนนี้ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรง ซึ่งถ้านโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุรา แล้วโปรโมตเรื่องเมาแล้วไม่ขับให้มากขึ้น ตรงนี้ก็จะไม่มีผลกระทบกับประกันอุบัติเหตุแต่อย่างใดครับ