พลิกกลยุทธ์ลงทุน เมื่อดอกเบี้ย “ขาขึ้น” ใกล้จบ

ชาคริต พืชพันธ์-ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์-ชยนนท์ รักกาญจนันท์

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ล่าสุด มีมติเอกฉันท์หยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5-5.25% หลังจากที่เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565

และปรับขึ้นติดต่อกันถึง 10 ครั้ง จนถึงเดือน พ.ค. 2566 สู่ระดับที่สูงสุดในรอบ 16 ปี อย่างไรก็ดี เฟดยังมีการส่งสัญญาณว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ แล้วค่อยไปลดในปีหน้า

“ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จิตตะ เวลธ์ จำกัด กล่าวว่า เฟดมีทีท่าที่จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่ได้ขึ้นดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมา ทั้งหมด 10 ครั้ง และเริ่มคงไว้ที่ระดับ 5.00-5.25%

ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ยในทันที แต่ระยะเวลาของการหยุดขึ้นดอกเบี้ย จะขึ้นอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจของตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อในเดือนถัด ๆ ไปจากนี้

“การหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว อาจเป็นประโยชน์ต่อสินทรัพย์บางประเภท โดยอัตราดอกเบี้ยที่คงที่ในระดับที่ค่อนข้างสูง พันธบัตรอาจจะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง สำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่มั่นคง ทั้งตราสารหนี้และตลาดหุ้น โดยปกติแล้วจะให้ผลตอบแทนที่ดี หลังจากอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับสูงสุด หุ้นก็มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งหุ้นเองก็น่าจะทำผลงานได้ดีเหมือนกัน” ตราวุทธิ์กล่าว

สำหรับหุ้นที่น่าสนใจในระยะนี้ แนะนำให้เน้นไปที่บริษัทคุณภาพสูงที่ทำกำไรและมีงบดุลที่ดี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นเวลานาน อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ ขณะที่กองทุนดัชนี เช่น S&P500 ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณา

“สิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุน คือการยึดมั่นในแผนระยะยาวและหลีกเลี่ยงการซื้อขายหุ้นโดยใช้อารมณ์เป็นหลัก เนื่องจากผลลัพธ์ของการลงทุนในอนาคตไม่แน่นอน และการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ นั้นจะขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ระยะเวลา และความเสี่ยงที่สามารถรับได้ในการลงทุนของแต่ละคน”

“ชยนนท์ รักกาญจนันท์” ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด กล่าวว่า เฟดน่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อและน่าจะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง ซึ่งหากย้อนดูจากสถิติในอดีต

1.ในกรณีที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ และไม่ได้มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย กลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้คือกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ ซึ่งน่าจะมีอัพไซด์ขึ้นไปอีกประมาณ 9-10% แต่ 2.หากเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่มีความกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถ้าในมุมนี้จะส่งผลให้ตลาดหุ้นพักฐานลง แต่เชื่อว่าภาพที่จะเกิดขึ้นน่าจะเป็นแบบแรกมากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากมีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้นาน ๆ จะส่งผลทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ทำให้ภาพเศรษฐกิจเป็นแบบ K-shaped คือบริษัทที่มีต้นทุนไม่สูงมากก็จะสามารถไปต่อได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่มีต้นทุนสูงก็อาจจะมีการถูกปรับลดประมาณการกำไรลงได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงกลุ่มที่อาจมีต้นทุนสูง อย่างกลุ่มคอมมิวนิตี้ หรือพลังงาน เป็นต้น

“กองทุนหรือหุ้นเทคโนโลยี เน้นไปที่สหรัฐ และเป็นหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ จะเป็นกลุ่มที่น่าสนใจที่สุดถ้าเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อ แม้ว่านับตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้นจะปรับขึ้นมาค่อนข้างมาก แต่เชื่อว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ รวมถึงการลงทุนในหุ้นจีนและเวียดนามที่น่าสนใจมากขึ้น นอกจากเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ย ยังมีแนวโน้มการเติบโตระยะยาวที่ดี” ชยนนท์กล่าว

ฟาก “ชาคริต พืชพันธ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นมากระทั่งอยู่ในระดับสูง เฟดมีการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่น่าจะไม่ได้ปรับลดลงในทันที

ซึ่งอาจจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ 3-6 เดือน หรือจนกว่าเงินเฟ้อจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ คงต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินนโยบายของเฟด

“การลงทุนในระยะข้างหน้ายังคงต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำไรสุทธิ (earning) เรื่องของการดาวน์เกรด เรื่องของภาวะตลาดหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดู รวมถึงการส่งสัญญาณต่าง ๆ ตัวเลขทางเศรษฐกิจล้วนมีความสำคัญ” ชาคริตกล่าว

“ชาคริต” กล่าวว่า ยังแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุน แต่หากมองในมุมของกลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ไม่ปรับขึ้น ก็น่าจะเป็นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐ เพราะก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากดอกเบี้ยขาขึ้น

ซึ่งหุ้นเทคโนโลยีมีการปรับตัวขึ้นมาแล้ว แต่มองว่าเป็นการปรับขึ้นมาจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว หากเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยน่าจะทำให้กลุ่มนี้มีโอกาสปรับขึ้นต่อได้ แต่ก็ไม่ได้แนะนำให้ overweight (เพิ่มน้ำหนักการลงทุน) ในกลุ่มมากนัก เพราะยังมีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นมากระทบได้อีก