ครึ่งปีหลัง “หนี้เสีย” ทะลัก แบงก์ตัดขายทำสถิติใหม่

ธรัฐพร เตชะกิจขจร วิเคราะห์หนี้เสีย

ธุรกิจบริหารหนี้ตั้งรับแบงก์แห่ตัดขายหนี้เพิ่มขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง เหตุหมดมาตรการพักหนี้ “SAM” ประเมินหนี้เสียทะลักเข้าสู่ระบบ 1.5 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ชี้เห็นสัญญาณธนาคารพาณิชย์-แบงก์รัฐหยิบหนี้เก่าออกประมูลมากขึ้น ด้าน “CHASE” เตรียมประมูลหนี้ 2-3 แห่ง ดันพอร์ตบริหารหนี้ 2.5 หมื่นล้านบาท

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า แนวโน้มการตัดขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบสถาบันการเงินในปีนี้ มีทิศทางเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยคาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 1.5 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่มีการตัดขายหนี้อยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุที่สถาบันการเงินนำทรัพย์ออกมาขายมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรการของธนาคารทยอยหมดลง ประกอบกับสถาบันการเงินมีทรัพย์ที่เป็นของเก่าเก็บไว้ จึงจำเป็นต้องระบายทรัพย์ตัดออกมาขายมากขึ้น

เนื่องจากกลัวทรัพย์จะล้น และพร้อมรับมือหนี้เสียของใหม่ โดยเฉพาะทรัพย์ในกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เห็นการตัดขายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี บริษัทเห็นสัญญาณหนี้เสียที่อายุไม่เยอะเฉลี่ยไม่เกิน 6 เดือน นำมาออกมาขายมากขึ้น และเห็นสัญญาณการดึงกลับมากขึ้น หากกรณีธนาคารมีการเจรจากับลูกค้าได้ ขณะเดียวกันพบสัญญาณสถาบันการเงินที่ไม่เคยตัดขายหนี้ก็หันมาขายหนี้มากขึ้น อาทิ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นต้น

“สัญญาณการตัดขายหนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว หากดูเฉพาะเท่าที่เราได้รับเชิญเข้าร่วมประมูลเฉพาะเดือน เม.ย. สูงถึงราว 7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี เราก็ดูว่ากองไหนมีศักยภาพจะเข้าไปประมูลได้บ้างตามความเหมาะสม แต่ทั้งปีเราตั้งงบฯซื้อหนี้ไว้ราว 7,000 ล้านบาท ส่วนทรัพย์รอการขาย (NPA) คาดว่าจะขายได้ประมาณ 2.6 พันล้านบาท จากปีก่อน 2.4 พันล้านบาท หรือเติบโต 10% โดยมีลูกค้าเข้ามาคุยเพื่อซื้อทรัพย์มากขึ้นในเมืองท่องเที่ยว”

ธรัฐพร เตชะกิจขจร
ธรัฐพร เตชะกิจขจร

นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เชฎฐ์ เอเชีย (CHASE) กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา บริษัทยังสามารถจัดซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ใหม่เข้ามาเพิ่มเติมในพอร์ตได้อย่างต่อเนื่องราวกว่า 3,600 ล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 280 ล้านบาท หรือราว 30% ของงบประมาณเงินลงทุนที่ตั้งไว้ในปีนี้ที่ 1,000 ล้านบาท

โดยยังคงเน้นเป็นพอร์ตสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ซึ่งเป็นพอร์ตที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ และมีอัตราการทำกำไรที่ดี ปัจจุบันมีบัญชีลูกหนี้กว่า 140,000 บัญชี

“บริษัทมองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณสถาบันการเงินนำหนี้เสียออกมาประมูลขายจำนวนมากขึ้น ซึ่งจากหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบโควิด-19 ในลูกค้าบางกลุ่ม รวมถึงหนี้ในระบบที่กำลังจะไหลตกชั้นเป็นหนี้เอ็นพีแอลค่อนข้างสูง ประกอบกับในช่วงไตรมาสที่ 3-4 เป็นช่วงฤดูกาลการตัดขายหนี้ของสถาบันการเงิน จึงเป็นโอกาสของบริษัทจะได้มูลหนี้ใหม่เข้ามาบริหารเพิ่มเติมได้”

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการเข้าไปประมูลพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มเติมอีก 2-3 แห่ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายเดือนนี้หรือเดือนหน้า โดยยังคงเน้นพอร์ตสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของพอร์ตลูกหนี้ทั้งหมด ดังนั้นจากการซื้อและรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรวมกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท

“เราวางเป้าหมายการเติบโตรายได้รวมราว 10-15% ซึ่งเชื่อมั่นว่าเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน โดยเรามองว่าปัจจัยสนับสนุน อาทิ ความพร้อมด้านเงินลงทุนที่แข็งแกร่งภายหลังจากระดมทุนจากการ IPO และมีแผนในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเพิ่มเติม เพื่อเข้าไปลงทุนเอ็นพีแอลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี และมูลหนี้คงค้างเดิมตามปกติหลังจากได้มาจะมีระยะเวลาสามารถเก็บเงินจุดสูงสุดในช่วงปีที่ 3 ถึงปีที่ 5 คาดว่าหนี้เสียคงค้างระหว่างปี 2563-2565 จะสามารถสร้างรายได้ชัดเจนในครึ่งปีหลัง”