ดอลลาร์แข็งค่า ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ

US Dollars ดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: U.S. dollar banknotes REUTERS/Dado Ruvic

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า  ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวแข็งแกร่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดคาดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 26-30 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (26/6) ที่ระดับ 35.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/6) ที่ระดับ 35.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อันได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. จากระดับ 51.3 ในเดือน พ.ค.

ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 46.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 48.4 ในเดือนพฤษภาคม และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 54.9 ในเดือนพฤษภาคม ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 1.7% โดยปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ -0.9% และมากกว่าเดือนเมษายนที่เพิ่มที่ระดับ 1.2%

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 109.7 ในเดือนมิถุนายน สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 104.0 ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 อีกทั้งยอดขายบ้านใหม่ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 12.2% สู่ระดับ 763,000 หลัง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 677,000 หลัง

Advertisment

นอกจากนี้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวในการเสวนาว่าด้วยนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ณ ประเทศโปรตุเกส ว่าเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้

ในคืนวันพฤหัสบดี (29/6) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมามีแนวโน้มที่ดียังส่งแรงบวกให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 2.0% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.4% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ระดับ 1.1% และ 1.3% ตามลำดับ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 26,000 ราย สู่ระดับ 239,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 265,000 ราย บ่งชี้ถึงตลาดแรงงานที่ฟื้นตัว ล่าสุดนักลงทุนให้น้ำหนักประมาณ 90% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมของเฟดวันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นหลังจากที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการเปิดเผยแผนงานระบบนิเวศของอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (New FX ecosystem) ที่จะดำเนินในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 โดยแผนงานคือจะมีการสนับสนุนให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการผ่อนคลายเกณฑ์การโอนเงินออกต่างประเทศให้มีความคล่องตัวขึ้น รวมถึงมาตรการที่จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติ

ขณะที่ปัจจัยการเมืองภายในประเทศยังกดดันตลาดต่อเนื่อง โดยนักลงทุนจับตาการประชุมของพรรคก้าวไกลและอีก 8 พรรคร่วมรัฐบาลในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคมนี้ และจับตาการเปิดประชุมสภาในวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ดีในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังแตะระดับสูงสุดที่ 35.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังสถานการณ์ทางการเมืองที่ดูมีทิศทางชัดเจนขึ้น

Advertisment

โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 35.15-35.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (30/6) ที่ระดับ 35.48/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (26/6) ที่ระดับ 1.0906/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/6) ที่ระดับ 1.0868/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังสหภาพยุโรปมีการเปิดเผยดัชนี PMI ซึ่งลดลงสู่ระดับ 50.3 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 52.8 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 52.5

ทั้งนี้ ดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมการผลิตยังคงขยายตัว ทางด้านเอสแอนด์พี โกลบอลระบุว่า การขยายตัวของผลผลิตทางธุรกิจของยูโรโซนเกือบหยุดชะงักในเดือนมิถุนายน เป็นการบ่งชี้ถึงความอ่อนแอครั้งใหม่ของเศรษฐกิจยูโรโซน หลังจากมีการขยายตัวชั่วคราวในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ขณะทีุุุ่่สถาบัน Ifo ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือน มิ.ย.ของเยอรมนี ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีกำลังเผชิญกับการต่อสู้ที่ยากลำบาก เพื่อก้าวออกจากภาวะถดถอย โดยดัชนีร่วงลงมาสู่ระดับ 88.5 ในเดือนนี้จาก 91.5 เมื่อเดือน พ.ค.

อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุน หลังนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้กล่าวว่า เงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มว่าจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ECB มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

ทางด้านนายฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ECB คาดว่าใน 2 ปีนี้ เงินเฟ้อของยูโรโซนน่าจะยังไม่ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ECB ที่ 2% อย่างไรก็ดีในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินยูโรถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์

ประกอบกับ GfK ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยตลาด ได้เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะลดลงในเดือนกรกฎาคมสู่ระดับ -25.4 จากระดับ -24.4 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ -23.0 และเป็นครั้งแรกที่ปรับลดลงหลังปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 8 เดือน เนื่องจากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจและรายได้ลดต่ำลง

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0833-1.0976 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (30/6) ที่ระดับ 1.0839/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (26/6) ที่ระดับ 143.32/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/6) ที่ระดับ 143.29/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐ และญี่ปุ่นที่ปรับตัวกว้างขึ้น

ทั้งนี้ การที่เงินเยนร่วงลงใกล้ระดับทางจิตวิทยาที่ 145 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อาจจะกระตุ้นให้ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยน เพื่อยับยั้งการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินเยน

ทางด้านนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้กล่าวว่าหากค่าเงินเยนอ่อนค่ามากเกินไปทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการใช้วิธีดำเนินการอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ทางด้านนายมาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้กล่าวเสริมว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยังคงจับตาค่าเงินเยนอย่างใกล้ชิดจากการที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมากในขณะนี้ โดยจะให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนและจะดำเนินการอย่างเหมาะสมหากค่าเงินเยนปรับตัวผันผวนมากเกินไป

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.93-145.07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (30/6) ที่ระดับ 144.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ