สภาพัฒน์ชงลงทุน 6 เดือน อัดฉีด 1.8 ล้านล้านรับรัฐบาลใหม่

เลขาฯสภาพัฒน์ ชงแผนลงทุนรัฐบาลใหม่ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจ ทั้งสานต่อมาตรการส่งเสริมรถอีวี-เร่งดึงอุตฯชิปต้นน้ำผลิตในไทย ส่งเสริม “พลังงานทดแทน” มากขึ้น ตัวช่วยป้องกันกีดกันการค้า พร้อมรวบโปรเจ็กต์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานค้างท่อ 1 แสนล้านให้ ครม.เคาะเดินหน้าต่อ เปิดแผนกวาดเม็ดเงิน 1.8 ล้านล้าน พยุงเศรษฐกิจช่วงรอจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รับห่วงปัญหา “หนี้ครัวเรือน” พุ่งสูงต้องเร่งแก้ไข ถึงเวลา “ปรับโครงสร้างภาษี” หาช่องจัดเก็บรายได้เพิ่มรับมือเข้าสู่สังคมสูงอายุ รองรับสวัสดิการถ้วนหน้า

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สศช.เตรียมข้อมูลและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับรายงานรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่ปัจจุบันมีการฟื้นตัว หลังจากหดตัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมองว่าปี 2566 เศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่น่าจะมีปัญหาที่น่ากังวล มีแค่เรื่อง “หนี้ครัวเรือน” ที่จะต้องมีการแก้ไขต่อเนื่อง แต่จะค่อนข้างเป็นห่วงประเด็นต่างประเทศ ที่มากระทบเรื่องการส่งออกของไทย ซึ่งล่าสุดตัวเลขส่งออกก็หดตัวลงมาตอนนี้เป็นเดือนที่ 8 แล้ว

หนุนเดินหน้าส่งเสริมอีวี

“เศรษฐกิจในประเทศ เอาจริง ๆ ไม่ได้เป็นห่วงมากนัก ที่เป็นห่วงจริง ๆ จะเป็นผลต่อเนื่องจากตัวเศรษฐกิจโลก ก็คือเรื่องส่งออกที่หดตัวลง ซึ่งก็จะเกี่ยวพันมาที่ภาคการผลิต ที่จะมีการผลิตลดลง แล้วจะต่อเนื่องไปที่เรื่องของการจ้างงาน ซึ่งตอนนี้กระทรวงพาณิชย์เองก็เร่งไปทำตลาดเพิ่มเติม ในตลาดที่มีศักยภาพ แล้วก็พยายามเร่งการส่งออกต่อเนื่อง ฉะนั้นเรื่องเร่งด่วนก็จะเป็นการที่จะต้องเร่งทำตลาด ขณะเดียวกันก็จะต้องเร่งมีการเจรจาที่เป็นลักษณะ FTA หรือกรอบข้อตกลงการค้าอื่น ๆ ให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะขยายตลาดไปได้”

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อ อย่างเรื่องมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพราะจะมาช่วยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ อีกเรื่องก็จะเป็นโครงการที่จะดึงโรงงานผลิตชิปต้นน้ำ ที่เป็นส่วนสำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องดึงเข้ามา

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการส่งเสริมพลังงานทดแทนให้มากขึ้น เพราะในอนาคตจะเป็นตัวที่เข้ามาช่วยในแง่ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมที่จะได้ลดปัญหากีดกันทางการค้า อันเนื่องมาจากเรื่องคาร์บอนเครดิต

Advertisment

เร่งชง เมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน

นายดนุชากล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีหลายโครงการที่อยู่ในไปป์ไลน์ที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเพื่อเดินหน้าต่อ มูลค่ารวม ๆ เกือบ 1 แสนล้านบาท เช่น โครงการรถไฟทางคู่จากจังหวัดขอนแก่นไปหนองคายที่จะต้องเร่ง เพื่อจะได้เชื่อมต่อกับรถไฟที่มาจาก สปป.ลาวได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อจากนครราชสีมาไปถึงหนองคายเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถเชื่อมโยงกับ สปป.ลาวและจีน ที่เป็นตลาดหลักของไทยได้สะดวกขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ที่เหลืออยู่ ทั้งทางคู่สายเหนือที่จะต้องไปถึงเชียงใหม่ รวมถึงเส้นทางทางภาคใต้ที่มีอีกบางช่วงที่จะต้องเร่งเสนอ ครม.พิจารณา ขณะที่รถไฟฟ้าก็ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เฟส 2 เส้นทางจากบางซื่อ ผ่านไปทางบางลำภู ซึ่งมีเรื่องสัญญาเกี่ยวกับการเดินรถที่ต้องมาเร่งดูว่าจะใช้รูปแบบใด รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ที่ยังค้างอยู่

“ทั้งหมดนี้เป็นโครงการลงทุนในลักษณะที่จะเป็นการวางรากฐานของประเทศ อย่างทางคู่ ถ้าเราทำได้ครบหมดทุกเส้นทาง จะทำให้การให้บริการทางด้านรถไฟ การขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

สายสีเขียว รอรัฐบาลใหม่ชี้ขาด

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ยังมีปัญหาคงต้องคุยกัน ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงคมนาคม โดยที่ผ่านมาก็มีการหารือกันค่อนข้างมากในเรื่องค่าโดยสาร เรื่องภาระต่าง ๆ แต่ก็ต้องบอกว่า เรื่องสายสีเขียวนี้ทุกอย่างผ่านกระบวนการไปหมดแล้ว ซึ่งดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 มีการเจรจากันไปแล้ว

Advertisment

“ส่วนหนึ่งก็ต้องเห็นใจภาคเอกชนด้วย เพราะเขาก็ดำเนินการให้บริการมาอย่างต่อเนื่องไม่เคยมีสะดุด เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ต้องเร่งคุยกัน แล้วก็แก้ปัญหาให้ได้ข้อยุติ เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา เพราะด้วยเงื่อนไขของการเป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถดำเนินการอนุมัติในเรื่องที่เป็นภาระต่อเนื่องไปยังรัฐบาลถัดไปได้ คงต้องรอรัฐบาลใหม่”

นายดนุชากล่าวอีกว่า นอกจากในส่วนของการลงทุน ก็ยังมีที่เป็นแผนงานประจำ อย่างการขยายกำลังการผลิตน้ำประปา หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องเร่งในเรื่องของการสร้างระบบนิเวศของงานวิจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้วที่ต้องเร่งดำเนินการ อย่างพวก biorefinery แล้วก็โครงการแสงซินโครตรอน ซึ่งจะช่วยในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงช่วยในแง่ของการสร้างความรู้ใหม่ ๆ ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร

ถึงเวลาปรับโครงสร้างภาษี

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า นอกจากเรื่องเร่งด่วนที่จะเสนอแล้ว ยังมีเรื่องระยะกลางและระยะยาว สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ การปรับโครงสร้างภาษี เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขณะเดียวกันระบบสวัสดิการที่ไทยทำอยู่ในปัจจุบัน เป็นสวัสดิการในลักษณะการพุ่งเป้า ซึ่งประชาชนหลายส่วนก็มีความต้องการสวัสดิการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ดี การจะเป็นรัฐสวัสดิการในทันที คงทำไม่ได้ในเวลาอันสั้น เพราะว่าทุกวันนี้ ใช้เงินงบประมาณสำหรับสวัสดิการแบบพุ่งเป้าปีละประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาทอยู่แล้ว

และต้องไม่ลืมว่า ในงบฯประจำปี จะต้องมีงบฯลงทุนด้วย เพื่อใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำไว้ที่ประมาณ 20% ของงบประมาณแต่ละปี

“การปรับโครงสร้างภาษี คงจะต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทั้งในเรื่องการขยายฐานภาษี อัตราการลดหย่อน โดยเฉพาะที่จะต้องเอาคนที่อยู่นอกระบบ เข้ามาในระบบ เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยจะมี informal sector อยู่ค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นเราต้องพยายามดึงกลุ่มพวกนี้ให้เข้ามาในระบบ ไม่ว่าจะระบบประกันสังคม ระบบภาษี จะได้มาดู คำนวณได้ว่ารัฐบาลจะมีรายได้เท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้เราเก็บภาษีอยู่ประมาณ 13-14% ของจีดีพีเท่านั้น พูดตามตรงว่า ถ้าจะทำสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ยังทำไม่ได้ เพราะว่าฐานะการเงินการคลังของเรายังไม่แข็งแรงพอ จะทำแบบนั้นได้ ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี แล้วก็ต้องทำให้เรื่องของภาษีเป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีเงินได้ ต้องเสียภาษี”

ดึงเม็ดเงิน 1.8 ล้าน ล.พยุง ศก.

นายดนุชากล่าวด้วยว่า หากภายใน 1-2 เดือนนี้ จัดตั้งรัฐบาลได้ตามกรอบเวลา งบประมาณปี 2567 จะออกได้จริง ๆ ภายในต้นปีหน้า ไม่เกินเดือน มี.ค. 2567 ฉะนั้นช่วงตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 ไปถึง มี.ค. 2567 ที่งบฯปี 2567 ยังไม่ออก สศช.ได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณแล้ว จะมีการให้ใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน ขณะเดียวกันจะมีเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าสู่ระบบได้ราว 1.5 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 และมีงบประมาณที่เป็นงบฯประจำอีก รวมกันแล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากนั้นในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2567 ก็จะมีเม็ดเงินจากรัฐวิสาหกิจอีก 5 หมื่นล้านบาท และจากงบฯประจำอีก 7 แสนล้านบาท ทำให้รวม ๆ แล้วช่วง 6 เดือน จะมีเม็ดเงิน 1.7-1.8 ล้านล้านบาท ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไปได้

“แต่สมมุติว่าการจัดตั้งรัฐบาลยังคงยืดยาวออกไป สศช.เองก็ดูว่าอาจจะต้องเสนอ ครม. ให้อนุมัติรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณสามารถเบิกจ่ายงบฯที่เป็นโครงการต่อเนื่องไปได้”

ส่วนการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์นั้น หากจะทำกับงบฯปี 2567 ทันที ก็อาจจะทำให้การเริ่มเบิกจ่ายล่าช้าออกไปอีก ดังนั้นอาจจะต้องไปเริ่มทำในงบประมาณปี 2568

หนี้ครัวเรือนปัญหาใหญ่

เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ยอมรับว่า “แก้ยาก” ต้องใช้เวลานาน เนื่องจากทุกวันนี้มีบรรยากาศของการกระตุ้นให้คนใช้จ่ายเต็มไปหมด ทำให้คนรู้สึกว่าซื้อไปก่อน แล้วไปผ่อนจ่ายทีหลัง

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าทุกวันนี้ ไม่ว่าจะซื้ออะไรก็ผ่อนได้หมด แล้วก็ 0% เพราะฉะนั้นเมื่ออีโคซิสเต็มเป็นอย่างนี้ ก็ทำให้ทุกคนมีการใช้จ่ายมากขึ้น โดยที่อาจจะไม่ได้ระมัดระวังว่า ความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองได้ขนาดไหน ดังนั้นอาจจะต้องเป็นเรื่องที่ดูร่วมกันทั้งระบบ”

ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้ครัวเรือน มูลค่าหนี้อยู่ที่ประมาณ 15 ล้านล้านบาท ถ้ากลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ประมาณครึ่งหนึ่ง สถาบันการเงินก็แย่แล้ว แต่ ณ วันนี้ เอ็นพีแอลยังอยู่ประมาณ 2.6% ซึ่งก็ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่เป็นอันตราย แต่ก็เบาใจไม่ได้ เพราะว่าหนี้ในบางเซ็กเมนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ หนี้สินเชื่อยานยนต์ พบว่ามีส่วนของการค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ) ขยับเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส และอีกส่วนหนึ่งก็คือ หนี้บัตรเครดิต บัตรเงินสด ที่มีการขยายตัวค่อนข้างมากในช่วง 3-4 ไตรมาสที่ผ่านมา

“ต้องคุยกันว่าจะต้องลดพวกนี้ลง อาจจะต้องมีเงื่อนไขที่เข้มข้นมากขึ้นสักนิด เพื่อที่จะทำให้คนเข้าใจและรู้ว่า ควรจะซื้อหรือไม่ควรจะซื้อ บนพื้นฐานรายได้ตัวเอง” เลขาธิการ สศช.กล่าว

https://www.youtube.com/watch?v=oym4MIbEjeI