ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า นักลงทุนวิตกภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

เงินดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังนักลงทุนวิตกภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เหตุภาคการผลิตเดือน มิ.ย.ของสหรัฐปรับลดลง ผลกระทบจากการจ้างงานที่ลดลง สวนทางคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่วนเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.87/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/7) ที่ระดับ 35.00/01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/7) ที่ระดับ 35.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีทิศทางเชิงบวกเกี่ยวกับการตกลงตำแหน่งประธานสภา

โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลดลงสู่ระดับ 46.0 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.0 จากระดับ 46.9 ในเดือน พ.ค. ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50

ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการลดลงของการจ้างงาน แม้ว่าคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวขึ้น และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน เม.ย.

แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ระบุว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 89.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.5% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 10.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 51.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.7 ในเดือน พ.ค. 66 ตามความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยในอีก 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 54.7 ปรับเพิ่มที่ระดับ 55.2 ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะจากภาคการผลิต

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.87-35.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.87/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/6) ที่ระดับ 1.0908/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/7) ที่ระดับ 1.0888/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยุโรป ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 43.4 ในเดือน มิ.ย.จากระดับ 44.8 ในเดือน พ.ค. ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต่ำกว่าที่คาดไว้เบื้องต้นที่ระดับ 43.6

ผลการสำรวจระบุว่า กิจกรรมภาคการผลิตของยูโรโซนหดตัวในอัตราที่เร็วกว่าคาดในเดือน มิ.ย. เนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งผลกระทบด้านการเงิน และบ่งชี้ถึงแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซา โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0893-1.0916 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0900/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/7) ที่ระดับ 144.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/7) ที่ 144.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนที่อ่อนค่าลงทำให้รัฐมนตรีญี่ปุ่นเสนอคำเตือนด้วยวาจามากขึ้นเกี่ยวกับการแทรกแซงที่อาจเกิดขึ้น

นายมัตซูโอะ กันดะ นักการทูตด้านสกุลเงินชั้นนำของประเทศกล่าวว่า ทางการได้ติดต่ออย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ของสหรัฐ เกี่ยวกับตลาดสกุลเงิน เนื่องจากเงินเยนใกล้ทะลุระดับ 145 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดว่า อาจกระตุ้นใกล้เกิดการเข้าแทรกแซงจากรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.34-144.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.35/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขนำเข้า, ส่งออก และดุลการค้าเดือน พ.ค.ของเยอรมนี (4/7), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. (6/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (6/7), ตัวเลขนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน พ.ค.ของสหรัฐ (6/7), ดัชนีภาคบริการเดือน มิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (6/7), อัตราการว่างงานของสหรัฐ (7/7) และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ (7/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.15/-10.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -12.40/-11.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ