คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า ผู้เขียน : กฤติกา บุญสร้าง, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย
ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายการเงินทั่วโลกอยู่ในระดับตึงตัวอย่างมาก นำโดยดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 และดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่อยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2001
ในขณะที่ดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014 สะท้อนสภาวะการเงินทั่วโลกที่ตึงตัวอย่างมาก โดยเฉพาะหลังวิกฤตธนาคารในสหรัฐ จากการล้มของธนาคารเอสวีบี
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลพวงจาก “การพร้อมใจเหยียบเบรกของธนาคารกลาง” ที่มีเป้าหมายเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจและลดเงินเฟ้อ แน่นอนว่าธนาคารกลางเหล่านี้ประสบผลสำเร็จในการลดเงินเฟ้อ จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกลดลงค่อนข้างรวดเร็ว เคลื่อนใกล้เป้าหมายของธนาคารกลางมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผลบวก ย่อมมีผลลบเสมอ การเหยียบเบรกเพื่อเข้าควบคุมเงินเฟ้อของเฟด ทำให้ภาคการผลิตที่ชะลอลงอย่างชัดเจน การส่งออกทั่วโลกเผชิญความท้าทายสำคัญ และมีแนวโน้มสูงที่จะหดตัวในระยะข้างหน้า ในขณะที่ตลาดแรงงานในสหรัฐ ที่เชื่อกันว่ามีความแข็งแกร่งเริ่มส่งสัญญาณแผ่วลง สะท้อนผ่านการจ้างงานเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่แย่ที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี
แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะยังได้รับอานิสงส์จากภาคบริการที่ยังคงมีความต้องการต่อเนื่อง หลังจากที่ทุกคนอัดอั้น ถูกล็อกดาวน์เป็นระยะเวลานานในช่วงวิกฤตโควิด-19
สิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้คือ เศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงในปีนี้ ยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งหมด กว่าที่ผลของการขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้งจะสะท้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน
จนถึงหลักปี ยิ่งเป็นช่วงหลังจากวิกฤตโควิดที่ทำให้หนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน และหนี้คงค้างของบริษัททั่วโลก ซึ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผลของการ ขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้จะยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกตอนนี้อาจเรียกได้ว่า “การเตรียมเผาหลอก” ก่อนการ “เผาจริง” ในระยะข้างหน้า หากธนาคารกลางทั่วโลกไม่ปรับคลายนโยบายการเงินลง
ทุกคนคงต้องเตรียมตัวรับแรงกระแทก…