ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณ ใกล้ยุติขึ้นดอกเบี้ย

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณใกล้ยุติขึ้นดอกเบี้ย แต่ยังสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ในปีนี้ เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2566 ค่าเงินบาmเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/7) ที่ระดับ 35.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/7) ที่ระดับ 35.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินยังคงปรับตัวลดลง 0.30% อยู่ที่ระดับ 101.98 หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

โดยนางแมรี่ ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) เมื่อวานนี้ (10/7) ว่า ยังคงสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

นางดาลียังกล่าวด้วยว่า การดำเนินการที่น้อยเกินไปจะสร้างความเสี่ยงมากกว่าการดำเนินการที่มากเกินไป แต่ขณะนี้การดำเนินการของเฟดมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น และเฟดก็ใกล้จะเข้าสู่ “ช่วงสุดท้าย” ของวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ขณะที่นายไมเคิล บาร์ รองประธานเฟดฝ่ายกำกับดูแลภาคธนาคารกล่าวในการประชุมซึ่งจัดโดยสมาคม Biprutisan Policy Center เมื่อวานนี้ (10/7) ว่า “เฟดมีความคืบหน้าอย่างมากในการดำเนินนโยบายด้านการเงินในปีที่ผ่านมา เรายังคงมีงานอีกเล็กน้อยที่จะต้องทำ โดยส่วนตัวผม ผมคิดว่าภารกิจของเราใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว”

ทางด้านนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเมื่อวานนี้ (10/7) ว่า “ดิฉันเป็นหนึ่งในกรรมการเฟดที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และดิฉันยังคงสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ดิฉันมองว่าเรากำลังใกล้ยุติวงจรการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน”

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ (10/7) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งทรงตัวในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวลดลง 0.1% หลังจากปรับตัวลงติดต่อกัน 2 เดือน เมื่อเทียบรายปี สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.7% ในเดือนพฤษภาคม ยอดขายในภาคค้าส่งปรับตัวลดลง 0.2% หลังจากทรงตัวในเดือนเมษายน นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจจะใช้เวลา 1.41 เดือนในการขายสินค้าจนหมดสต๊อก เพิ่มขึ้นจาก 1.40 เดือนเมษายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ การประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวานนี้ (10/7) ยังไม่มีการลงมติกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ถือครองหุ้น บริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) ไอทีวี จะเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยได้นัดประชุมวันนี้ (11/7) อีกครั้ง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.75-35.11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/7) ที่ระดับ 1.1005/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/7) ที่ระดับ 1.0960/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังธนาคารกลางฝรั่งเศสเปิดเผยรายงานภาวะธุรกิจประจำเดือนกรกฎาคมเมื่อคืนนี้ (10/7) โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสมีการขยายตัว 0.1% ในไตรมาส 2 หลังจากขยายตัว 0.2% ในไตรมาส 1 เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

โดยรายงานคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานที่มีการเปิดเผยในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยวันนี้ (11/7) ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.3% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายเดือน เท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ และสูงกว่าเดือนพฤษภาคมที่ระดับ -0.1% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0995-1.1026 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1009/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/7) ที่ระดับ 141.33/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (10/7) ที่ระดับ 142.46/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เนื่องจากคาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐซึ่งจะเปิดเผยในสัปดาห์นี้จะชะลอตัวลง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐปรับตัวลดลง

อีกทั้งกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 1.86 ล้านล้านเยน (1.308 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนพฤษภาคมแต่ต่ำกว่าเดือนเมษายนเล็กน้อย เนื่องจากขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.40-141.46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 140.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนมิถุนายนจากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) (11/7), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิถุนายนของสหรัฐ (12/7), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (12/7) และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจหรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (12/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.20/-10.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.25/-9.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ