ชง ครม.เก็บภาษีดอกเบี้ยบอนด์ หัก 15% ทั้ง “บุคคล-กองทุน”

“อภิศักดิ์” เคาะเก็บภาษีกองทุนรวมทั้งระบบที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ เผยหักภาษี 15% ของรายได้ดอกเบี้ยทั้งการลงทุนโดยตรง-โดยอ้อม ขณะที่รับฟังความเห็นเสียงค้านกระหึ่ม อ้างกระทบการออม-ส่งผลคนหันไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนที่เสี่ยงกว่าแทน ลุ้นเข้า ครม. 27 มี.ค.นี้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เก็บภาษีอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้ระหว่างการที่บุคคลธรรมดาลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม กับการที่บุคคลธรรมดาที่ลงทุนในตราสารหนี้

“เรื่องนี้ทำแน่ ตอนนี้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว” นายอภิศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ทางกรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เรื่อง การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ตามแนวทางของมาตรา 77 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเรียบร้อยแล้ว

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมสรรพากรได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และเสนอให้ รมว.คลังพิจารณา ซึ่งได้รับความเห็นชอบให้มีการทำเรื่องเสนอไปที่ ครม.แล้ว คาดว่าจะมีการบรรจุวาระเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม. ในวันที่ 27 มี.ค.นี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้ที่แสดงความคิดเห็นเข้ามาผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากรนั้น ส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมนี้ โดยบางส่วนได้แสดงความไม่เห็นด้วยในเชิงนโยบาย เพราะมองว่าไม่เป็นการส่งเสริมการออมของประชาชน และเป็นการลดทางเลือกการลงทุนของผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถลงทุนทางตรงกับตราสารหนี้ตามมูลค่าขั้นต่ำของการซื้อรวมถึงมีการแสดงความกังวลว่าจะเกิดภาวะการลงทุนที่บิดเบือนไป เนื่องจากผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้จะหันไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน หรือตลาดทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษีแทน ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนมากขึ้นจากเดิม

“ประเด็นส่งเสริมการออมนี้ กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังเห็นว่า การปรับปรุงการเก็บภาษีครั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งในแง่การลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงกับการลงทุนในตราสารหนี้โดยอ้อมผ่านกองทุนรวม ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีจากกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุนด้วยหรือไม่ ก็ต้องเสียภาษีเงินได้อย่างเท่าเทียมกัน” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ ทางกรมสรรพากรได้รับข้อเสนอแนะที่ให้มีการยกเว้นภาษีให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งกรณีการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง และการลงทุนผ่านกองทุนรวม รวมถึงข้อเสนอให้พิจารณายกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินปันผล เนื่องจากมีการมองว่าการจัดเก็บภาษีตราสารหนี้ผ่านผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม หากยังไม่

ขายคืนกองทุน (ยังไม่เกิดรายได้) แต่ผู้ถือหน่วยต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้ว และหากต่อมาได้รับเงินปันผลก็จะต้องถูกหักภาษีเงินปันผลอีก 10% จึงมองว่าเป็นการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อน

“อีกประเด็นที่กรมสรรพากรรับไว้พิจารณาก็คือ ข้อเสนอให้มีบทเฉพาะกาล เพื่อให้กองทุนและผู้ถือหน่วยลงทุนมีเวลาเตรียมพร้อม หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะกำหนดให้กองทุนรวมเป็นหน่วยภาษีเงินได้นิติบุคคล และจะจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะรายได้จากดอกเบี้ยเท่านั้น โดยกำหนดให้ผู้ออกตราสารหนี้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่กองทุนรวม ในอัตรา 15% เพื่อนำส่งกรมสรรพากร โดยประเมินว่าจะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 1,600-2,500 ล้านบาท

“แนวทางนี้คือจะมีการเก็บภาษีกองทุนรวมที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่จะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สำหรับรายได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ เช่นเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)” แหล่งข่าวกล่าว