SMK กางแผนฟื้นฟูกิจการ 5 ปี เจ้าหนี้โควิดได้ชำระคืนเป็นเงินสด 15%

SMK

SMK รายงานความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เจ้าหนี้เคลมโควิดได้เงินคืน 15% ภายใน 1 ปี ที่เหลืออีก 85% บริษัทจัดสรรเป็นหุ้น พร้อมกำหนดระยะเวลาฟื้นฟูกิจการ 5 ปีออกจากแผน

วันที่ 10 สิงหาคม 2566  บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ตามที่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และตั้งบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 บริษัทขอรายงานความคืบหน้าในกระบวนการฟื้นฟูกิจการประจำไตรมาส 2 ปี 2566 ดังนี้

– วันที่ 26 มิถุนายน 2566 บริษัทในฐานะผู้ทำแผนได้ดำเนินการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 90/43 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้กำหนดวันนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนตามในมาตรา 90/44 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ในวันที่ 27 กันยายน 2566 เวลา 09.30 น. โดยเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

– เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดส่งประกาศนัดประชุมเจ้าหนี้ พร้อมแผนฟื้นฟูกิจการและเอกสารเกี่ยวกับการประชุมเจ้าหนี้ ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามที่อยู่อีเมล์ (Email Address) เบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ และที่อยู่ทางไปรษณีย์ (ขึ้นอยู่กับช่องทางติดต่อที่สามารถจัดส่งได้) โดยเริ่มจัดส่งประกาศนัดประชุมเจ้าหนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 นี้

– สรุปแผนการชำระหนี้เจ้าหนี้โควิด จากแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2566 มีจำนวนเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ 295,320 ราย เป็นภาระหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้จำนวน 29,273.52 ล้านบาท ผู้ทำแผนได้มีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามลักษณะของภาระหนี้สินและประเภทของเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญ

โดยแบ่งเจ้าหนี้เป็น 18 กลุ่ม เจ้าหนี้โควิดจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 (เจ้าหนี้ค่าสินไหมโควิด เจอจ่ายจบ และ 2 in 1 ที่ยังไม่ได้รับการชำระ) และกลุ่มที่ 3 (เจ้าหนี้ค่าสินไหมโควิดเจอจ่ายจบ และ 2 in 1 ที่ได้รับการชำระแล้วบางส่วน) สามารถสรุปแผนการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โควิด ดังนี้

ส่วนที่ 1 : เจ้าหนี้โควิดได้รับชำระด้วยเงินสด 15% ของหนี้เงินต้นพร้อมกัน ไม่เรียงตามลำดับก่อนหลัง (ตามคิว) ภายใน 45 วัน นับจากวันที่ได้รับเงินจากผู้ลงทุน หากบริษัทได้รับเงินจากผู้ลงทุนเพิ่มมากกว่าที่กำหนดไว้ จะนำมาชำระหนี้เพิ่มเติมให้กับเจ้าหนี้กลุ่ม 2 ทุกรายตามสัดส่วนภาระหนี้เงินต้น (Pro Rata Basis)

ทั้งนี้ ผู้ร่วมลงทุนจะชำระเงินภายใน 1 ปี นับจากวันที่ศาลเห็นชอบด้วยแผน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ใช่ความผิดของผู้บริหารแผน หรือหากผู้บริหารแผนเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มมูลค่าได้สูงขึ้นกว่าจำนวนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ให้ผู้บริหารแผนสามารถขยายกรอบระยะเวลาออกไปได้ แต่ทั้งนี้ ไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันครบกำหนดเดิม

ส่วนที่ 2 : เจ้าหนี้โควิดได้รับชำระหนี้ด้วยหุ้นบุริมสิทธิ 85% ของหนี้เงินต้นส่วนที่เหลือ ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับเงินจากผู้ลงทุน (โดยหุ้นบุริมสิทธิมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลพิเศษจากการฟ้องร้องคดีปกครอง) หากบริษัทชนะคดีปกครอง

ดังนั้น เงินที่อาจได้รับจากการชนะคดี (หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในศาลปกครองดังกล่าวทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผน ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและภาษีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ตลอดจนชดเชยเงินขาดทุนสะสม (หากมี)) จะถูกนำมาจัดสรรในรูปแบบเงินปันผลพิเศษ ให้แก่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิตามสัดส่วนจำนวนหุ้นบุริมสิทธิของผู้ถือหุ้นแต่ละราย โดยให้จัดสรรให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับจากวันที่บริษัทได้รับเงินจากการชนะคดีปกครองดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่เกินจำนวน 1,000 บาท ต่อ 1 หุ้นบุริมสิทธิ

 – ผลสำเร็จของแผน

การดำเนินการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ให้ถือว่าเป็นผลสำเร็จตามแผน เมื่อผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามเงื่อนไขหรือจัดให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้ครบถ้วน

1) ดำเนินการปรับโครงสร้างทุนและแปลงหนี้เป็นหุ้นบุริมสิทธิ ตามที่กำหนดไว้ในแผน และ

2) ดำเนินการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2, 3, 4, 5, 10, 11, 17 และ 18 ได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในแผน

เมื่อการดำเนินการฟื้นฟูกิจการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้ว ให้ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องต่อศาล และ/หรือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นลายลักษณ์อักษรว่าการดำเนินการตามแผนได้สำเร็จครบถ้วนแล้ว เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการต่อไป

ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกิน 5 ปี

การดำเนินการตามแผนมีระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผน ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ล้มละลาย

 – การแต่งตั้งผู้บริหารแผน

แผนกำหนดให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ เป็นผู้บริหารแผน ขั้นตอนภายหลังการยื่นแผน ภายหลังจากผู้ทำแผนยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาคำสั่ง เห็นชอบด้วยแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนจะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

บริษัทจะแจ้งความคืบหน้าใด ๆ ในการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงความคืบหน้าอื่นเพิ่มเติมต่อไป