แบงก์สนปล่อยกู้ “คิดดอกเบี้ย“ ตามเสี่ยง

แบงก์สนปล่อยกู้ “คิดดอกเบี้ย“ ตามเสี่ยง

“แบงก์-น็อนแบงก์” ขานรับมาตรการคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า จ่อตบเท้าเข้าร่วมทดสอบใน sandbox ของ ธปท. “ทีทีบี” คาดช่วยดึงกลุ่มเสี่ยงถูกปฏิเสธสินเชื่อกลับเข้าระบบได้ 5-8% ฟาก “เคทีซี-LINE BK” มั่นใจมีโมเดลวิเคราะห์ลูกค้าดี-ลูกค้าเสี่ยง ชี้เกณฑ์ดอกเบี้ยใหม่ต้องเหมาะสม หวั่นมากไปกระทบการชำระหนี้-ต่ำเกินไปผู้ประกอบการไม่คุ้มต้นทุน ด้าน “SCAP” สนนำสินเชื่อ 2 ประเภทร่วมทดสอบ

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมทดสอบในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (sandbox) ในเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้า (risk based pricing : RBP) ภายในไตรมาสที่ 2/2567 นั้น ทางธนาคารสนใจที่จะเข้าร่วม

โดยที่ผ่านมาจะทำแนวทางนี้เฉพาะในช่วงดอกเบี้ยขาลง ในกลุ่มลูกค้าที่มีวินัยการเงินที่ดี โดยจะลดดอกเบี้ยให้เหลือเฉลี่ย 13% ต่อปี แต่ไม่สามารถเปิดรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเกินเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 25% ต่อปีได้ ทำให้ลูกค้าบางกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินหรือสินเชื่อในระบบได้ เช่น กลุ่มอาชีพเสี่ยง รายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือกลุ่มที่ไม่มีประวัติทางการเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่โดยปกติสถาบันการเงินจะไม่ปล่อยสินเชื่อ

“ถ้า ธปท.เปิดให้มีการทดสอบและสามารถคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงลูกค้าได้ ก็คาดว่าจะสามารถช่วยดึงลูกค้าที่โดนปฏิเสธสินเชื่อ (reject) กลับเข้ามาในระบบได้ประมาณ 5-8% ของยอดทั้งหมด ส่วนดอกเบี้ยจะเป็นเท่าใดนั้น คิดว่าอาจจะอยู่ในกรอบ 28-33% ต่อปี เทียบเท่ากับนาโนไฟแนนซ์ที่คิดอยู่ปัจจุบัน” ฐากรกล่าว

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี กล่าวว่า บริษัทรอดูเกณฑ์ที่จะออกมาภายในช่วงไตรมาสที่ 3/2566 นี้ ซึ่งคาดว่า ธปท.จะต้องขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง แล้วจึงทยอยเริ่มคุยกับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการอีกครั้งภายในปีนี้ ก่อนจะเปิดรับสมัครเข้าทดสอบใน sandbox ในไตรมาสที่ 2/2567

ฐากร ปิยะพันธ์
ฐากร ปิยะพันธ์

โดยเคทีซีก็สนใจจะเข้าร่วม และมีโมเดลในการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ซึ่งจะมีการคำนวณดอกเบี้ย ทั้งในส่วนของลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ และความเสี่ยงสูงเกินเพดานดอกเบี้ย 25% ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของ ธปท.ที่ต้องการให้มีดอกเบี้ย 2 อัตรา ทั้งดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเพดานสำหรับกลุ่มคนที่มีวินัย และเกินเพดานได้สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยง จากเดิมที่เคยโดนสถาบันการเงินปฏิเสธ

“การขยับดอกเบี้ยที่สูงเกินเพดาน 25% ต่อปี อาจจะไม่ได้เพิ่มสูงมาก เพราะต้องดูความเหมาะสมของลูกค้า การแข่งขันของตลาด และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกค้าด้วย เนื่องจากหากขยับสูงจนเกินไป ท้ายที่สุดลูกค้าก็ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ และกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทำให้การผลักดันมาตรการดังกล่าวก็ไม่เป็นผลสำเร็จตามที่ ธปท.ต้องการ” พิชามนกล่าว

ฟากนายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (LINE BK) กล่าวว่า ปัจจุบัน LINE BK คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้าอยู่แล้ว แต่หาก ธปท.เปิดโอกาสให้สามารถเก็บดอกเบี้ยลูกค้ากลุ่มเสี่ยงเกินเพดานได้ บริษัทก็สนใจเข้าร่วมทดสอบ

“การทดสอบดังกล่าวเป็นการทดลองเบื้องต้น ซึ่งต้องทดลองในวงจำกัด เช่น กลุ่มลูกค้า แผนธุรกิจ และโมเดลการวัดความเสี่ยง เพื่อดูประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมที่ ธปท.เปิดให้ผู้ประกอบการสามารถคิดได้ ซึ่งหากขยับเพียงเล็กน้อย อาจจะไม่คุ้มกับค่าดำเนินการต่าง ๆ แต่หากขยับสูงจนเกินไปอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้เช่นเดียวกัน คงต้องดู ธปท.จะให้เพดานเท่าไร” ธนากล่าว

นายวิชิต พยุหนาวีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) หรือ SCAP กล่าวว่า ตอนนี้ยังต้องรอให้ ธปท. เรียกรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) รวมถึงรอความชัดเจนและรายละเอียดในหลักเกณฑ์ของการคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงก่อน อย่างไรก็ดี บริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมทดสอบใน sandbox หลังเปิดให้เข้าร่วม โดยบริษัทจะเข้าทดสอบทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ คือ สินเชื่อส่วนบุคคล และนาโนไฟแนนซ์