ผู้ว่าการ ธปท.ชี้หนี้ครัวเรือนไทยยังไม่ “วิกฤต” ย้ำดอกเบี้ยใกล้จุดสมดุล

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ดอกเบี้ยนโยบายไทยใกล้ “จุดสมดุล” ระบุจะถึงแล้วหรือไม่ต้องรอการประชุม กนง.รอบต่อไป ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ต้องรีบแก้

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2566 ว่า ทิศทางนโยบายการเงินในขณะนี้เริ่มเข้าใกล้จุดสมดุลแล้ว โดยจุดสมดุลก็คือ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสม เอื้อให้เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ ประมาณ 3-4% ต่อปี เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3% และไม่ไปสร้างความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ สร้างความเปราะบาง รวมถึงสร้างการกู้ยืมจนเกินตัว

“ตอนนี้เหมือนคันเร่งมันเริ่มอยู่ถูกที่แล้ว มันไม่ได้เป็นการเหยียบเบรก มันเป็นการถอนคันเร่ง ซึ่งตอนนี้ใกล้จุดสมดุลแล้ว แต่จะถึงหรือยัง คงต้องรอการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ขณะที่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยนั้น ต้องบอกว่าหากหนี้สูงไป จะเป็นตัวสร้างความเปราะบาง ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่กับประเทศไทยมานาน และต้องเร่งจัดการ แต่ถามว่าถึงขั้นวิกฤตแล้วหรือยัง ก็ต้องตอบว่ายังไม่ใช่

“ตอนนี้ยังไม่ใช่วิกฤต แต่ต้องจัดการ เพราะถ้าปล่อยไป จะกลายเป็นวิกฤต ซึ่งตอนนี้หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.6% ของ GDP ถือว่าสูงไป เกณฑ์ต่างประเทศที่เขากำหนด อยากเห็นอยู่ที่สักไม่เกิน 80% ซึ่งตอนนี้เป็นจุดที่เหมาะสมที่จะเข้าไปแก้ตามบริบทเศรษฐกิจ เพราะถ้าปล่อยไปตามยถากรรม หนี้จะไม่ลง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ ก็คือ การแก้ปัญหาคนที่เป็นหนี้เรื้อรัง ซึ่งจะออกมาประมาณเดือน เม.ย. 2567 โดยจะเริ่มจากผู้ที่มีรายได้น้อยก่อน ซึ่งสถาบันการเงินจะมีทางเลือกให้ลูกค้าสามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี