YLG เผยตลาดทองคำรอผลประชุมเฟดเดือน ก.ย. มั่นใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย

ราคาทองคำ

วายแอลจีแนะจับตาผลประชุมเฟดปลาย ก.ย. คาดปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบสุดท้าย ชี้หากดอกเบี้ยนิ่งตามคาดภายในปีนี้ทองคำมีโอกาสทำจุดสูงสุดใหม่ พร้อมออกโปรโมชั่นลดการวางเงินประกันสำหรับการซื้อขายทองออนไลน์เหลือ 200,000 บาท ตั้งแต่ 20 ส.ค.-31 ต.ค. 2566

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ทิศทางทองคำในช่วงนี้ยังคงเป็นลักษณะแกว่งตัวลง เนื่องจากในช่วงนี้ตลาดรอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้

ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย โดยก่อนหน้านี้ประธานเฟดกล่าวสรุปในการประชุม Dot Plot ว่า ดอกเบี้ยควรจะขึ้นไปอยู่ที่ 5.6% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 5.25-5.5% ดังนั้น จึงมีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง อย่างไรก็ดี ผลสำรวจ FED Watch Tool ของ CME Group พบว่านักวิเคราะห์เกือบ 90% ให้น้ำหนักว่าดอกเบี้ยที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 5.5% จึงมองว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอีกแล้ว รวมถึงอัตราดอกเบี้ยอาจจะลดลงในช่วงกลางปีหน้า

อย่างไรก็ดี หากผลการประชุมออกมาตามคาด และอัตราดอกเบี้ยเริ่มนิ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อตลาดทองคำ เนื่องจากที่ผ่านมาราคาทองคำแกว่งตัวเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยหากดอกเบี้ยเริ่มนิ่งก็มีโอกาสที่ภายในช่วงปลายปีทองคำจะทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ในระหว่างที่ตลาดเฝ้ารอผลการประชุมเฟดนั้น แนะนำว่านักลงทุนสามารถเก็งกำไรระยะสั้นในทองคำได้ โดยมองจังหวะการเข้าซื้อแถวโซนแนวรับ 1,870-1,851 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ และหาจังหวะทำกำไรที่โซนแนวต้าน 1,931-1,947 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์  ส่วนราคาทองคำในประเทศมองเคลื่อนไหวในกรอบ แนวรับด้านล่าง 31,000-30,650 บาทต่อบาททองคำ ส่วนกรอบแนวต้านประเมินไว้ที่ 32,000-32,250 (คำนวณด้วยค่าเงินบาท 34.97 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 23 ส.ค. 2023 เวลา 14.00 น.)

ทั้งนี้แม้ราคาทองคำในช่วงนี้จะแกว่งตัวลง แต่ยังมีปัจจัยบวกจากฝั่งของธนาคารกลางในหลายประเทศที่ยังคงเข้าซื้อทองคำสะสมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีทองคำเป็นทุนสำรองปริมาณไม่มาก หรือประเทศที่ถูกแทรกแซงจากสหรัฐ อาทิ รัสเซีย รวมถึงประเทศที่ถือดอลลาร์เป็นทุนสำรองปริมาณมาก และต้องการจะลดปริมาณการถือครองดอลลาร์ลง เช่น จีน เป็นต้น