ซีอีโอ CardX ถือธง “ยานแม่“ ดันธุรกิจทำกำไร

สารัชต์ รัตนาภรณ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

เป็นเวลา 1 ปีแล้วที่ธนาคารไทยพาณิชย์โอนพอร์ตธุรกิจ “บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” มาอยู่ภายใต้ บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (CardX) ที่เป็นบริษัทย่อยของกลุ่มธุรกิจการเงิน “บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX”

โดยหัวหอกสำคัญขององค์กรคือ “สารัชต์ รัตนาภรณ์” ที่ย้ายจากอดีตผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ มานั่งแท่นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CardX รับโจทย์มาขับเคลื่อนธุรกิจที่ถือเป็นหนึ่งในเรือธงสำคัญของ “ยานแม่” ซึ่งล่าสุดได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนฉายภาพธุรกิจที่ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน

Spin-off ธุรกิจทำกำไร

“สารัชต์” เล่าย้อนว่า การที่แยกธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลออกมาจากแบงก์ เพราะเป็นธุรกิจที่หากบริหารได้ดีจะสามารถทำกำไรได้สูงกว่าแบงก์ ยกตัวอย่างกรณีของ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี ที่มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity หรือ ROE) ระดับกว่า 20% มีกำไร 6,000-7,000 ล้านบาท แต่หากอยู่ภายใต้แบงก์ ROE เฉลี่ยจะแค่ 10%

เนื่องจากจะมีหลายโจทย์ที่จะต้องทำ โดยเฉพาะต้องทำธุรกิจ low risk low return ด้วย เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเอสเอ็มอี เป็นต้น

“ธุรกิจที่ high risk high return ควรทำนอกธนาคาร เพราะหากอยู่กับธนาคารจะไม่มีความยืดหยุ่น เพราะทุกอย่างจะทำแบบ one size fits all จึงเป็นที่มาของการแยกธุรกิจออกมา ซึ่งการ spin-off ทำให้เราคล่องตัวดีขึ้น เช่น หากเราจะคิดทำโมเดลขึ้นมาสักอัน ถ้าอยู่ในแบงก์เราจะใช้เวลาพิจารณาและเริ่มทำนานถึง 8 เดือน แต่ถ้าอยู่นอกแบงก์จะสามารถออกมาได้ภายใน 1-2 เดือน หรือเราเห็นสัญญาณอะไรเกิดขึ้น เราสามารถตัดสินใจได้ทันที หรือปรับเปลี่ยนได้เลย ขณะที่เมื่ออยู่ในแบงก์เราต้องมีขั้นตอนในการตัดสินใจ”

ทุ่ม 2 พันล้านอัพเกรดไอทีใหม่

ส่วนการดำเนินธุรกิจของ CardX ในปัจจุบัน “สารัชต์” กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการสร้างพื้นที่ธุรกิจใหม่ โดยมีอยู่ 2-3 เรื่องที่ดำเนินการ คือ 1.ลงทุนสร้างระบบเทคโนโลยีใหม่ เพราะระบบเดิมค่อนข้างเก่า ซึ่งระบบใหม่จะเป็น cloud based โดยจะมีการนำข้อมูลทางเลือก (alternative data) มาประมวลผลแบบ realtime ใช้เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท

และ 2.การปรับเปลี่ยนโมเดลการบริหารความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตั้งแต่ต้นจนจบ (end to end) แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งสามารถมอนิเตอร์คุณภาพลูกหนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยควบคุมความเสี่ยงจากหนี้เสีย เพราะหากหลังบ้านสามารถบริหารหนี้ได้ดี และอยู่ในกรอบที่เหมาะสม จะส่งผลให้หน้าบ้านสามารถปล่อยสินเชื่อได้ดีขึ้น และขยายไปยังลูกค้าที่กว้างขึ้น หรือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการได้

“เราโอนพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลเสร็จตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนบัตรเครดิตน่าจะโอนแล้วเสร็จกลางปี 2567 เพราะบัตรเครดิตจะซับซ้อนกว่า แต่ระหว่างโอนย้ายก็พัฒนาระบบเทคโนโลยีไว้รองรับ และเจาะกลุ่มเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เพราะเรามีเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์สินเชื่อ หรือการทำแคมเปญได้ดีขึ้นหรือถูกตัวขึ้น”

เป้าปี’69 ดัน ROE แตะ 20%

ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตลูกค้า 117,500 ล้านบาท แบ่งเป็นบัตรเครดิต 53,500 ล้านบาท ฐานลูกค้า 2.1 ล้านราย และสินเชื่อส่วนบุคคล 63,500 ล้านบาท ฐานลูกค้า 1 ล้านบัญชี โดยในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร (spending) เติบโต 7% หรือคิดเป็น 1.2 แสนล้านบาท ขยายตัวสอดคล้องกับภาพรวมตลาด ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว 12%

โดย CardX มีมาร์เก็ตแชร์อยู่อันดับ 4 ของตลาด มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 117,500 ล้านบาท ใกล้เคียงกับอันดับ 3 ที่มีพอร์ตอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท และอันดับ 2 ที่อยู่ที่ 125,000 ล้านบาท ส่วนอันดับที่ 1 มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 169,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2569 บริษัทจะสามารถสร้างกำไรตามที่ SCBX คาดหวังไว้ คือเป้าหมายเพิ่ม ROE ขึ้นเป็น 18-20% จากปัจจุบันยังอยู่ระดับเลขตัวเดียว โดยเป้าหมายดังกล่าวจะสำเร็จได้ จะมาจากรายได้และการลดค่าใช้จ่ายผ่านการควบคุมหนี้เสียให้ได้ จากปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.7-2.8% ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนทางเครดิต (credit cost) ปรับลดลง โดยคาดว่าเมื่อถึงปี 2569 บริษัทจะมีกำไรอยู่ที่ 6,000-8,000 ล้านบาท

“ตอนนี้ผลประกอบการอาจจะยังไม่ได้สะท้อนมาก เพราะเราเพิ่งจะออกมาจากโควิด-19 โดยเราได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปค่อนข้างเยอะ แต่ 2-3 ปีหลังจากนี้ เราโอนพอร์ตธุรกิจเสร็จเรียบร้อย มีระบบเทคโนโลยีพร้อมและทันสมัย ปี 2567 จะเป็นปีที่เราสร้างบ้าน จากนั้นปี 2568 จะเริ่มทยอยเห็นผลประกอบการ การสร้างกำไร และเป็นไปตามแผนที่สร้างกำไร 6,000-8,000 ล้านบาท”

บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลปีนี้ยังโต

“ซีอีโอ CardX” กล่าวว่า ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ส่งผลให้รายได้กลับมาดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายคึกคักขึ้น โดยสินเชื่อส่วนบุคคลยังเป็นที่ต้องการต่อเนื่อง เพื่อบริโภค อย่างไรก็ดี มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การเมือง และคุณภาพของลูกหนี้ ทำให้บริษัทยังคงเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวัง โดยเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ไม่เร่งขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อเกินไป

ปรับชำระขั้นต่ำกระทบหนี้เสีย

ส่วนนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะให้ปรับการผ่อนชำระขั้นต่ำ (minimum payment) กลับมาเป็น 8% จากที่ลดลงไปเหลือ 5% เมื่อปี 2567 นั้น “ซีอีโอ CardX” กล่าวว่า ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งอาจจะมีลูกค้าบางส่วนที่ชำระได้ และมีลูกค้าบางส่วน
ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่เข้าข่ายชำระขั้นต่ำ 5% มีอยู่ประมาณ 160,000 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 8% ของฐานลูกค้าที่มีอยู่ 2 ล้านราย

“การปรับขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% ย่อมมีผลต่อหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันเรามีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.7-2.8% ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนวิธีการบริหาร” ซีอีโอCardX กล่าว