ทำไม 21 บริษัท ในตลาดหุ้น ถึงไม่มี “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ให้พนักงาน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทำไม 21 บริษัท ในตลาดหุ้น ถึงไม่มี “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ให้พนักงาน บทความโดย “สิริพร สงบธรรม จังตระกุล” เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA)

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 เวทีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคน 3 กลุ่มได้คุยกัน คือ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และคณะกรรมการบริษัท เก็บตกประเด็นคำถาม-คำตอบ เรื่อง การมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน พบว่าในจำนวนกว่า 800 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มี 21 บริษัท ยังไม่มีนโยบายในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เราลองหันมามอง 2 มิติจากมุมของผู้บริหาร และมุมของสังคม ที่อาจมีรอยแยก แตกต่างกันคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-Provident Fund (PVD) รองรับด้วย พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 เป็น “กองทุน” ที่เกิดขึ้นโดยความความสมัครใจของนายจ้าง และลูกจ้าง อันเป็นหลักประกันให้ลูกจ้างยามชราภาพ หรือเมื่อต้องออกจากงาน

เงินที่หักจากเงินเดือนของฝั่งลูกจ้าง เรียกว่า “เงินสะสม” ส่วนเงินจากฝ่ายนายจ้าง เรียกว่า “เงินสมทบ” และทั้งหมดจะเป็นเครื่องมือทางการเงิน เป็นเงินเก็บ เป็นสวัสดิการ โดยมอบให้ บลจ.มืออาชีพ เข้ามาบริหารเงินก้อนนี้

ข้อดีที่รัฐบาลสนับสนุนให้ทุกกิจการมี PVD ให้กับพนักงานคือ การมีวินัยทางการเงิน บริหารโดยมืออาชีพ และสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

เงินกองทุนก้อนโตของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีมากว่า 36 ปี รวมกว่า 9 แสนล้านบาท จัดชั้นเป็นเงินออมของประเทศอีกก้อนหนึ่ง

จากข้อมูลภาคสนามของการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของทุกบริษัทจดทะเบียน จึงพบข้อมูลในปี 2564 ว่า มี 25 บริษัทจดทะเบียน ที่ยังไม่มีนโยบายจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

รุ่งขึ้นในอีก 2 ปีต่อมาคือ ข้อมูลล่าสุด ปี 2566 เหลือ 21 บริษัท ที่ยังคงไม่มีนโยบายจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เหตุผลโดยรวมที่ผู้บริหารตอบในประเด็นนี้คือ บริษัทยังขาดทุนสะสม บริษัทมีสวัสดิการอื่นให้พนักงานอยู่แล้ว และตอบแบบชัดเจนว่า บริษัทไม่มีนโยบาย

ในยุค ESG เบ่งบาน การเป็น “คนดี” ของสังคมเป็นภาพพจน์ เป็นการลงทุน ที่กิจการไม่ได้วาดหวังให้มีกำไรสูงสุด แต่เป็นการแบ่งปันของสังคม ให้มีความสุขยั่งยืนไปด้วยกัน