บาทผันผวนในกรอบ ตลาดจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ

เงินบาท

เงินบาทผันผวนในกรอบ ตลาดรอจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือนสิงหาคม ล่าสุด CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 89% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 5.25-5.50 ในการประชุมวันที่ 20 ก.ย. 2566

วันที่ 1 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพร ายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 28 ส.ค.-1 ก.ย. 2566 ในช่วงต้นสัปดาห์ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก

หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า แม้เงินเฟ้อของสหรัฐจะเริ่มชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดแล้ว แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% โดยเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปจนกว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงอย่างยั่งยืน

จับตาการประชุมเฟด 19-20 ก.ย.

ซึ่งในการประชุมเฟดที่จะถึงนี้ (19-20 ก.ย.) เฟดจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังและเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นสำคัญ นอกจากนี้ผู้ว่าการเฟดสาขาคลีฟแลนด์ นางลอเรตตา เมสเตอร์ ยังได้กล่าวสนับสนุนว่าเฟดมีความจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อต่อไป

อย่างไรก็ดีดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรับเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ลดลง 338,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.827 ล้านตำแหน่งในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 9.465 ล้านตำแหน่ง

นอกจากนี้ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยผลสำรวจของสถาบันวิจัย Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 106.1 ในเดือน ส.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 116.0 จากระดับ 114.0 ในเดือน ก.ค.

ทั้งนี้ดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยถูกกดดันหลังจาก ADP เปิดเผยการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 177,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ตำแหน่ง นับเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 5 เดือน

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับ GDP ประจำไตรมาส 2/2566 พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 2.4% ภายหลังที่ขยายตัว 2.0% ในไตรมาสก่อนหน้า

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือน มิ.ย. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.2% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือน มิ.ย.

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 228,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย ทั้งนี้ล่าสุดนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้มยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ล่าสุด CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 89% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 5.25-5.50 ในการประชุมวันที่ 20 ก.ย. อย่างไรก็ดี นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. ของสหรัฐในวันนี้ (1/9) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 170,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือน ส.ค.จะทรงตัวที่ระดับ 3.5%

 ธปท.ชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (28/8) ที่ระดับ 35.18/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/8) ที่ระดับ 35.09/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีค่าเงินบาทปรับตัวผันผวนในกรอบ ตามแรงซื้อขายของดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามการใช้จ่ายในประเทศและภาคบริการ (การท่องเที่ยว) ที่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมีวันหยุดยาว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นหลายหมวด ด้านมูลค่าการส่งออกลดลงตามอุปสงค์ของคู่ค้า ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ธปท.เผยว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ค.ขาดดุล 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับที่เกินดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์ ในเดือน มิ.ย.สำหรับมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. หดตัว 5.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า ลดลง 12% ส่งผลให้มียอดเกินดุลการค้า 0.4 พันล้านดอลลาร์ พร้อมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน ส.ค.ยังต้องพึ่งพาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีความเสี่ยง เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก

โดยระยะต่อไปต้องติดตามการชะลอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ และผลกระทบของภาวะเอลนีโญต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร พร้อมทั้งเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบต่อไป (27 ก.ย.) มีโอกาสสูงที่จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงจากระดับ 3.6% ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน พ.ค. โดยมีสาเหตุหลักมาจากแนวโน้มการส่งออกฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 3485-34.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 35.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ชี้เศรษฐกิจยุโรปยังอ่อนแอ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (28/8) ที่ระดับ 1.0803/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/8) ที่ระดับ 1.0790/9 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากที่นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ว่าทาง ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงต่อไป เพื่อให้เงินเฟ้อลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายระยะกลางที่ 2%

อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าในช่วงกลางสัปดาห์ หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจของยุโรป ได้ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจยุโรปยังคงอ่อนแอและเปราะบาง โดยสถาบันวิจัยตลาดจีเอฟเค (GfK) เผยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเยอรมนี ปรับตัวลงในเดือน ก.ย.สู่ระดับ -25.5 จากระดับ -24.6 ในเดือน ส.ค.ต่ำกว่าระดับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ -25.0 ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ผู้บริโภคในเยอรมนีมีมุมมองในแง่ลบต่อเศรษฐกิจของประเทศและต่ออนาคตทางการเงินของตนเอง

ทางด้านสำนักงานสถิติสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในยูโรโซนไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.3% ในเดือน ส.ค.เทียบกับที่คาดว่าจะลดลงสู่ 5.1% แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงานลดลงสู่ระดับ 5.3% ในเดือน ก.ค. ที้งนี้ผู้กำหนดนโยบายของอีซีบีกำลังหารือกันว่าจะหยุดพักหรือจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมในวันที่ 14 ก.ย.นี้ ซึ่งอาจจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย

และความกังวลส่วนหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวอย่างรวดเร็ว และอาจจะเผชิญกับภาวะถดถอยโดยที่แทบไม่มีแรงหนุนที่จะทำให้เกิดการฟื้นตัว ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0780-1.0945 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 1.0845/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (28/8) ที่ระดับ 146.51/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุุกร์ (25/8) ที่ระดับ 146.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในการประชุมแจ็กสัน โฮลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงขยายตัวช้ากว่าเป้าหมายของ BOJ และนี่จึงเป็นเหตุผลที่คณะกรรมการ BOJ ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป

อย่างไรก็ดีนายนาโอกิ หามูระ หนึ่งในกรรมการของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยภาคธุรกิจในเมืองดูชิโระ ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า BOJ อาจมีข้อมูลมากเพียงพอที่จะตัดสินได้ว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ของ BOJ อย่างยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งเป็นระดับที่จะทำให้ BOJ สามารถถอนนโยบายผ่อนคลายการเงินเป็นพิเศษ (ulira-loose monetary policy) ได้

โดยผ่านมานั้น แม้ว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเคลื่อนไหวเหนือระดับ 2% แล้ว แต่ BOJ ก็ยังให้คำมั่นว่าจะคงนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไปจนกว่าจะมีหลักฐานเพิ่มเติมว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับดังกล่าวอย่างยั่งยืน โดยนายทามูระกล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ระดับเป้าหมาย 2% ของ BOJ อย่างยั่งยืนนั้น เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นในขณะนี้ หลังจากบริษัทเอกชนได้หันมาปรับขึ้นราคสินค้าและค่าจ้าง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.22-147.36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 145.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ