ดอลลาร์แข็งค่า รับตัวเลขจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่งของสหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Jo Yong-Hak/File Photo

ดอลลาร์แข็งค่า รับตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง ล่าสุดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ขณะที่ปัจจัยในประเทศโปรดเกล้าฯครม.ใหม่อย่างเป็นทางการ

วันที่ 4 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ระดับ 35.10/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 35.00/01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเทียบสกุลเงินหลัก หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 169,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค.

ส่วนค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ค. และเมื่อเทียบรายปี ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนก่อนหน้า

โดยอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีที่แล้วที่ระดับ 3.8% สูงกว่าในเดือนก่อนหน้า และตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.5% แต่อัตราการว่างงานยังคงต่ำกว่าการประมาณการล่าสุดในไตรมาส 4 ของ ธนาคารกลางสหรัฐ ที่ระดับ 4.1% และอัตราการมีส่วนร่วมของภาคแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 62.8% สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ.ปี 2020 และพุ่งขึ้นจาก 62.6% ในเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 สู่ระดับ 47.6 แต่มากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 46.9 และมากกว่าในเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.4

ซึ่งนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ ให้ความเห็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐ ยังคงแข็งแกร่งและมีสัญญาณในการปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลมากยิ่งขึ้น ผ่านการจ้างงานที่ชะลอตัวลงและตำแหน่งงานเปิดใหม่ที่ลดลง แต่ในภาพรวมอัตราการว่างงานที่ระดับ 3.8% ยังถือเป็นระดับต่ำอยู่

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ในอนาคตอาจต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ภาคธนาคาร และภาคการเงินอย่างใกล้ชิด่อไป เพื่อให้แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสอดคล้องกับเป้าหมาย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันเสาร์ที่ผ่านมา (2/9) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างเป็นทางการ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่ง รมว.กระทรวงการคลัง ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล ดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย และนายสุทิน คลังแสง ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม

ส่วนในกระทรวงอื่น ๆ เป็นไปตามโผที่พรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาล ได้เปิดเผยมาก่อนหน้านี้ ซึ่งการมีเสถียรภาพทางด้านการเมืองอาจส่งผลให้เกิดการตอบสนองในเชิงบวกของนักลงทุนต่อไป

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.09-35.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ระดับ 1.0776/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 1.0845/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (1/9) S&P Global รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคอุตสาหกรรมของยุโรปประจำเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ สูงสุดในรอบ 3 เดือน 43.5 จากระดับ 42.7 ในเดือนก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าข้อมูลขั้นต้นที่ระดับ 43.7

นอกจากนี้สำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยในวันนี้ (4/9 ว่ายอดส่งออกของเยอรมนีลดลง 0.9% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ยอดส่งออกปรับตัวลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่าจะร่วงลง 1.5% ในเดือน ก.ค. ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือน ก.ค. โดยเยอรมนีมียอดเกินดุลการค้า 1.59 หมื่นล้านยูโร ในเดือน ก.ค. ลดลงจากระดับ 1.87 หมื่นล้านยูโรในเดือน มิ.ย.

สำหรับยอดส่งออกจากเยอรมนีไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ก.ค. แต่การส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ นอกยุโรปลดลง 2.5% เมื่อเทียบรายเดือน ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0769-1.0806 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0792/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ระดับ 146.14/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 145.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (1/9) S&P Global รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคอุตสาหกรรมของประเทศี่ปุ่นหดตัวลงในเดือน ส.ค.เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันสู่ระดับ 49.6 เท่ากับเดือนก่อนหน้า

และถือเป็นการปรับลงจากดัชนีขั้นต้นของเดือน ส.ค.ที่ 49.7 โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง146.00-146.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 146.40/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคบริการของจีน (5/9), การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย (5/9), การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางแคนาดา (6/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคบริการจากสถาบัน ISM ของสหรัฐ (6/9), ตัวเลขดุลการค้าประจำเดือน ส.ค. ของจีน (7/9), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (7/9), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI ) ประจำเดือน ส.ค.ของจีน (9/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.50/-10.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.60/-6.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ