ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า เศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอ

ค่าเงินบาท เงินบาท ปึกเงิน ธนบัตร
Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า เศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอ สนค. กระทรวงพาณิชย์ คาดเศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมายการเติบโตที่ระดับราว 5% ในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบจากการทรุดตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการชะลอตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภค

วันที่ 5 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/9) ที่ระดับ 35.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/9) ที่ระดับ 35.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

โดยได้รับแรงหนุนจากการที่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2566 ขึ้นสู่ระดับ 1.9% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.1% เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่ง โดยยังคงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในปี 2567 ไว้ที่ระดับ 1%

เงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัว

นอกจากนี้ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ยังคาดการณ์ว่า ขณะนี้มีโอกาสเพียง 15% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถถอย ซึ่งปรับลดลงจากโอกาส 20% ที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอตัวลง และตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันนี้ (5/9) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 108.41 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.88% จากเดือน ส.ค. 66 ที่ระดับ 0.38% และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.61% ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลก และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 104.41 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงสู่ระดับ 0.79% จากเดือน ส.ค. 66 ที่ระดับ 0.86% และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.82%

Advertisment

นอกจากนี้ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวถึงแนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 66 ว่า มีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ และสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ชะลอตัว และการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ และการลงทุนภายในประเทศ จะเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทรงตัว และเพิ่มขึ้นไม่มาก ซึ่งเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยผลสำรวจ ระบุดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน ส.ค.ของจีนอยู่ที่ระดับ 51.8 ลดลงจากระดับ 54.1 ในเดือน ก.ค.

เศรษฐกิจจีนเสี่ยงพลาดเป้าโต 5%

โดยดัชนี PMI เดือน ส.ค.ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถทำให้การอุปโภคบริโภคฟื้นตัว เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมายการเติบโตที่ระดับราว 5% ในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบจากการทรุดตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการชะลอตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภค และการเติบโตของสินเชื่อที่อ่อนแรงลง

ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารรายใหญ่หลายแห่งพากันปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.28-35.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/9) ที่ระดับ 1.0791/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/9) ที่ระดับ 1.0795/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยสถาบันวิจัยเซนทิกซ์ (Sentix) ของเยอรมนี รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนปรับลดลงสู่ระดับ 21.5 ในเดือน ก.ย.จากระดับ -18.9 ในเดือน ส.ค. และต่ำกว่าที่คาดการณ์ ของนักวิเคราะห์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ระดับ -20.0 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0743-1.0798 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0747/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/9) ที่ระดับ 146.57/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/9) ที่ระดับ 146.37/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่กระทรวงกิจการภายในและการสื่้อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นเดือน ก.ค. ปรับตัวลงสู่ระดับ -5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลงที่ระดับ -2.5%

นอกจากนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงกว่าการปรับขึ้นค่าแรง และการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงต่ำกว่าระดับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.41-147.08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.06/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนเดือน ส.ค.จากไฉซิน (5/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคบริการจากสถาบัน ISM ของสหรัฐ (6/9), ตัวเลขดุลการค้าประจำเดือน ส.ค.ของจีน (7/9), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (7/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.50/-11.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.7/6.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ