คนไทยแห่เปิดบัญชี “เทรดหุ้น” ตลท.ชี้สัดส่วน GenY-GenZ พุ่งต่อเนื่อง

คนรุ่นใหม่เทรดหุ้น

คนรุ่นใหม่แห่เปิดบัญชีเทรดหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯเผย 7 เดือนแรกปี 2566 ภาพรวมยอดเปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้น 3-4 หมื่นบัญชีต่อเดือน ชี้ “Gen-Y กับ Gen-Z” พุ่งต่อเนื่อง ลงทุนหลายสไตล์ “หุ้นปันผล-หุ้นใหญ่-DR-หุ้นยั่งยืน” ฟาก “บล.กสิกรฯ” คาดสิ้นปีนี้ยอดเปิดบัญชีใหม่ 28,000 บัญชี

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อมูลล่าสุดจนถึงช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า มียอดการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 หมื่นบัญชีต่อเดือน (ดูตาราง)

ซึ่งการเปิดบัญชีเทรดหุ้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถือเป็นเรื่องปกติ เพราะหุ้นเป็น asset class หนึ่งที่คนยังให้ความสนใจลงทุน

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลัง ๆ สิ่งที่เห็นคือจะมีคนรุ่นใหม่ (younger generation) เช่น Gen-Y และ Gen-Z มาเปิดบัญชีในจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และการซื้อขายก็มีบัญชีที่เป็นกลุ่ม Gen-Y และ Gen-Z ในสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ เม็ดเงินที่ซื้อขายในตลาดโดยรวมก็ยังคงเป็นกลุ่ม Gen-X หรือกลุ่ม baby boomer เป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าเป็นเงินที่สะสมมานาน

“คนรุ่นใหม่แม้ว่าจำนวนบัญชีจะเยอะขึ้น แต่ถ้าเทียบมูลค่าการซื้อขายก็จะยังไม่เยอะ แต่คาดว่าในอนาคตคงจะใหญ่ขึ้นแน่นอน”

สำหรับสิ่งที่นักลงทุนสนใจเข้ามาซื้อขายหุ้นนั้นจะแล้วแต่ช่วงเวลา อย่างถ้าย้อนกลับไปเมื่อช่วง 2 ปีที่แล้ว จะมีหุ้นขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก เช่น บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ซึ่งมีการกระจายหุ้นแบบ small lot first ทำให้คนเข้ามาถือครองหุ้นตัวนี้ค่อนข้างมาก

“ตอนนี้ถามว่าคนซื้อขายหุ้นอะไรกัน ต้องบอกว่าจะขึ้นอยู่กับสไตล์ของนักลงทุนรายย่อยแต่ละราย บางกลุ่มที่มีอายุจะเน้นลงทุนหุ้นปันผล เพราะมีลักษณะคล้ายเงินฝาก ได้เงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอ และบางกลุ่มจะเน้นซื้อขายหุ้นอิงปัจจัยพื้นฐาน (fundamental) ก็คือหุ้นขนาดใหญ่ อาจจะเป็นตัวเดียวหรือหลายตัว

ตาราง ซื้อขายเทรดหุ้น

ส่วนที่เหลือจะเป็นกลุ่มที่สนใจโปรดักต์ที่มีความท้าทายมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่หุ้นไทย แต่อาจจะมีการลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ทั้งหุ้น Apple, Tesla, Xiaomi หรือ Tencent

“เราเคยทำการศึกษากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็พบว่า คนรุ่นใหม่จะลงทุนหุ้นที่เห็นว่าสอดคล้องกับ identity หรือตัวตนของเขาด้วย ซึ่งรวมถึงหุ้นยั่งยืน โดยที่ผ่านมา ผมว่าตลาดหุ้นไทยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สะท้อนกับไลฟ์สไตล์การลงทุนของคนรุ่นใหม่มากขึ้น เช่น ลงทุนเป็นหน่วยเล็ก ๆ ได้ และลงทุนหุ้นต่างประเทศแต่ใช้บัญชีไทยก็ได้ ถือเป็นแม็กเนตตัวหนึ่งที่ทำให้ younger generation เข้ามาซื้อขาย”

แหล่งข่าวบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินยอดการเปิดบัญชีเทรดหุ้นของบริษัทในปี 2566 น่าจะใกล้เคียงปีก่อน ที่ระดับ 27,000-28,000 บัญชี หรือคิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ 18% ของทั้งตลาด

โดยช่วงครึ่งปีแรกมียอดเปิดบัญชีใหม่แล้วจำนวน 14,000 บัญชี ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่ม mass อายุค่อนข้างคละกัน แต่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีปริมาณการซื้อขายไม่มาก ซึ่งเหมือนกันทั้งอุตสาหกรรม

“ถ้าย้อนไปในช่วง 5 ปีที่แล้ว ยอดเปิดบัญชีเทรดหุ้นของบริษัทอยู่ประมาณแค่ 20,000 บัญชี นั่นแปลว่ายอดเปิดบัญชีของนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุก ๆ ปี มองว่า 1.นักลงทุนมีความคุ้นเคยกับตลาดมากขึ้น และ 2.รายย่อยเห็นโอกาสกับช่วงโควิดที่สามารถหาผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในตลาดได้

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เหลือของปีจะขึ้นอยู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า จะฟื้น GDP ได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงปัจจัยในต่างประเทศด้วย เพราะจริง ๆ นักลงทุนชอบความผันผวนของตลาด เมื่อตลาดมีความผันผวนน้อยลง คนจะเทรดน้อยลง และเปิดบัญชีน้อยลง ถ้าสังเกตช่วงโควิด ความผันผวนเยอะมาก ช่วงนั้นคนจะเทรดและเปิดบัญชีมาก เพราะความผันผวนทำให้เรามีโอกาสที่จะสร้างกำไร คนจะไม่ชอบตลาดหุ้นนิ่ง ๆ”

“ปี 2567 ตามคาดการณ์ดัชนีเป้าหมาย SET Index หุ้นไทยจะวิ่งขึ้นไปได้จากปัจจุบันแค่ 100 กว่าจุด ซึ่งถือว่าความผันผวนยังต่ำ ปริมาณการซื้อขายจะไม่มาก แต่ถ้าเหวี่ยงขึ้นไประดับ 200-300 จุด เช่น ดัชนีย่อตัวลงมาระดับ 1,400 จุด และขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุด ลักษณะนี้จะมีปริมาณการซื้อขายที่สูงและคนจะเข้ามาลงทุนมาก” แหล่งข่าวกล่าว