
คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน ผู้เขียน : Actuarial Business Solutions (ABS)
ถ้าผมลองถามว่า “เมื่อมีอายุ 60 ปี คนเราน่าจะมีเงินเก็บได้ซักเท่าไหร่” พวกเราพอจะมีคำตอบในใจกันไหม
เท่าที่ผมเคยได้ฟังคำตอบมานั้นมีอยู่หลากหลายมากแต่จับใจความแล้วได้ประมาณว่า “ไม่แน่ใจเลยครับ เพราะทุกวันนี้พอเงินเดือนออกแทบจะไม่ได้จับเงินเลย ไหนจะผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเทอมลูก ค่าใช้จ่ายรายวันอีกเยอะแยะจึงไม่เคยมีเงินเหลือเก็บเลยครับ”
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
หรือถ้ายังหาคำตอบไม่ได้ ผมมีคำถามที่ง่ายกว่านั้น คือ “คิดว่าจะเริ่มเก็บเงินตอนอายุเท่าไหร่” ก็จะได้รับคำตอบประมาณว่า “40 หรือ 45 มั้งครับเพราะตอนนั้นลูก ๆ ก็คงใกล้เรียนจบแล้วก็น่าจะพอมีเงินเหลือเก็บได้บ้าง”
จากสองคำถามข้างต้นทุกคนอาจมองดูเป็นเรื่องปกติในยุคข้าวยากหมากแพงนี้ ถ้าทุกคนลองคิดดูจะเห็นว่าทุกช่วงชีวิตของคนเราล้วนมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิด ก้าวเข้าสู่วัยเรียน และแม้ว่าจะเรียนจบปริญญา
หรือมีงานทำแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะลอยตัวสามารถนอนอยู่บนกองเงินกองทอง หรือมีเงินเดือนเหลือเก็บอู้ฟู่ เพราะส่วนใหญ่จะมีภาระผ่อนรถ หรือผ่อนบ้านตามมายิ่งถ้าหากเริ่มมีครอบครัวจนกระทั่งต้องดูแลพ่อแม่ในยามสูงวัยด้วยค่าใช้จ่ายก็จะมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ
ขณะที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนเริ่มมีความมั่นคงด้านหน้าที่การงานเพิ่มขึ้นหลาย ๆ คนเพิ่งเริ่มคิดถึงเรื่องเงินออม คำถามก็คือเมื่อเราอายุ 60 ปี ชีวิตการทำงานจบลง แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเงินออมของเราจะพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่
สวัสดิการทางสังคมขั้นพื้นฐานที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า “ประกันสังคม” จึงเป็นตัวลดความเสี่ยงในขั้นต้นซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าจำนวนเงินสมทบที่จ่ายไปแต่ละครั้ง หมายถึงการออมเงินเพื่อยามเกษียณไปด้วยในตัวครับ
โดยปกติแล้วเงินสมทบของประกันสังคมจะทำหน้าที่คุ้มครองอยู่ 7 อย่าง คือ การเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และตัวสุดท้าย คือ “ชราภาพ” ซึ่งเป็นกองทุนที่ทุกคนมองข้าม แต่ผมว่าน่าจับตามองมากที่สุดเพราะมันให้เงินบำนาญตั้งแต่ตอนเกษียณที่อายุ 55 ปีไปจนตลอดชีวิต (ย้ำว่าตลอดชีวิตเลย)
หากคิดในอัตราสูงสุด คือ เราจะต้องจ่ายเดือนละ 750 บาทเงินจำนวนนี้ถูกเก็บเป็นเงินออมชราภาพ (หรือภาษาทั่วไปเรียกว่า เงินออมบำนาญ) ถึง 450 บาททีเดียวเมื่อส่งเงินสมทบเกินกว่า 15 ปี และอายุครบ 55 ปีเราก็จะได้รับเงินบำนาญไปตลอดชีวิต
เคล็ดลับที่หลายคนไม่ควรพลาด คือ เพียงแค่เราเริ่มออมเงินเร็วขึ้นระยะเวลาในการออมก็จะมีมากทำให้เงินออมเพื่อบำนาญก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางประกันสังคมจะมีตัวคูณที่เหมือนโบนัสเพิ่มให้ในตอนจ่ายเงินบำนาญถ้ามีระยะเวลาที่ทยอยจ่ายสมทบเป็นจำนวนมาก เรียกว่า ยิ่งจ่ายนานก็จะยิ่งคุ้ม
บำนาญจากประกันสังคมจะให้อยู่ราว ๆ 20-60% ของเงินเดือน ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนที่มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท ส่งเงินสมทบเป็นเวลา 20 ปี จะมีสิทธิรับบำนาญรายเดือน เดือนละ 4,125 บาท แต่ถ้าส่งถึง 35 ปีจะได้รับเงินถึง 7,500 บาทไปตลอดชีวิต
แต่สำหรับบางคนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน (หรือน้อยกว่า 15 ปี) จะไม่สามารถรับบำนาญรายเดือนได้ ในกรณีนี้จะมีการคืนเงินออมให้เต็มจำนวนรวมกับเงินสมทบจากนายจ้างพร้อมดอกผลเมื่ออายุครบ 55 ปี
ดังนั้นหากโดนนายจ้างตัดเงินเข้าระบบประกันสังคมก็ไม่ต้องตกใจไป ถือเป็นการออมเพื่อการเกษียณอีกแบบหนึ่งที่ทุกคนอาจจะยังไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการจ่ายเงินในปริมาณน้อยแต่ได้รับผลประโยชน์เยอะเพราะมีทั้งนายจ้างและภาครัฐคอยสมทบเงินเข้าไปในกองให้เราด้วย ผมถือว่าเป็นตัวเลือกที่คุ้มมากที่สุดทางหนึ่ง
มาวางแผนการเงินให้ถูกต้องเมื่อถึงช่วงบั้นปลายของชีวิตกันดีกว่า ถ้าหากอยู่อย่างพอเพียงก็สามารถมีเงินบำนาญเลี้ยงตัวเองได้ตลอดชีวิตเลยทีเดียวครับ