ไพบูลย์ ไขข้อสงสัย รัฐบาลใหม่เริ่มงานแล้ว แต่ทำไมหุ้นไทยยังไม่ขึ้น

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ซีอีโอ บล.ทิสโก้-กรรมการเฟทโก้-นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ไขข้อสงสัย “รัฐบาลใหม่เริ่มงานแล้ว…แต่ทำไมหุ้นไทยยังไม่ขึ้น”

วันที่ 20 กันยายน 2566 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อคืนวานนี้ (19 ก.ย.) โดยกล่าวถึงประเด็น “รัฐบาลใหม่เริ่มงานแล้ว…แต่ทำไมหุ้นไทยยังไม่ขึ้น”

ผ่านมาเกือบ 1 เดือน นับจากวันที่คุณเศรษฐา ทวีสิน ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลายคนคงสงสัยว่าทำไมดัชนี SET Index ถึงแทบไม่ขยับขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มั่นใจว่า ถ้าเลือกนายกฯ ได้สำเร็จ และพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเกิด “Relief Rally” (ช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจเป็นวัฏจักรขาลง) ในระยะสั้น

ผมมองว่าเหตุผลหลักที่หุ้นไทยไม่ตอบสนองการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้อ่อนแอกว่าคาดมาก ขยายตัวเพียง 1.8% ในไตรมาส 2/2566 และชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาส 1/2566 ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจถูกประเมินว่ายิงไม่ถูกเป้า เพราะเน้นไปที่การบริโภค ทั้งที่ภาคส่วนเศรษฐกิจที่มีปัญหาคือภาคส่งออก ลงทุน และเกษตร

คงไม่มีใครเถียงว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันทีอย่างแน่นอน เพราะเป็นการฉีดเงินเข้าระบบสูงถึง 560,000 ล้านบาท เท่ากับ 3% ของ GDP ภายใน 6 เดือน แต่ที่นักลงทุนเป็นห่วงคือ อาจทำให้รัฐบาลต้องจำกัดงบประมาณด้านอื่นที่มีความจำเป็นกว่า และอาจสร้างแรงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น ๆ เท่านั้น

ที่สำคัญ เม็ดเงินที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจยังมีค่อนข้างจำกัด จนกว่ารัฐสภาจะลงมติเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน

อีกสาเหตุที่หุ้นยังไม่ขึ้น น่าจะเป็นเพราะบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกในช่วงนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ผลพวงจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอีกรอบ ทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวขึ้น และสร้างแรงกดดันให้เฟดต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก แต่ผมมองว่าน่าจะเป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงชั่วคราว และดอกเบี้ยสหรัฐน่าจะจบรอบการขึ้นแล้ว

มองไปข้างหน้า ผมมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น และเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในช่วงสร้างฐานเพื่อรอขาขึ้นรอบใหม่

ทำไมผมถึงคิดเช่นนั้น

หนึ่ง ปีหน้า (2567) เป็นปีที่ดอกเบี้ยสหรัฐเริ่มกลับสู่ขาลง อาจไม่ลงเร็วมาก และไม่ลงเยอะมาก แต่การกลับสู่ขาลงของวงจรดอกเบี้ยสหรัฐ มักเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดหุ้นโลกขาขึ้น

สอง ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐเริ่มลดลง เพราะตลาดแรงงานสหรัฐยังดูแข็งแกร่งมาก ในกรณีเลวร้ายถ้าเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยจริง ดอกเบี้ยขาลงน่าจะช่วยประคองให้ภาวะถดถอยไม่รุนแรง ไม่ลากยาว และไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สาม เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเรื่อย ๆ จากยอดค้าปลีกที่เริ่มฟื้นตัว รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น การผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา บวกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง และการผ่อนมาตรการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวเร็วขึ้นในปีหน้า ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย

สี่ ปีหน้าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงเกิน 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ถ้ารัฐบาลสามารถขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นรูปธรรมได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็น่าจะช่วยสร้างจุดขายให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาเป็นที่สนใจของกองทุนต่างประเทศได้

ห้า ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยมีแนวโน้มขยายตัว 15% ในปีหน้า เทียบกับ -1% ในปีนี้ และอาจสูงกว่านี้ถ้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลเกินคาด

จากเหตุผลข้างต้น ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับมา “Outperform” ตลาดหุ้นโลกในระยะข้างหน้า หลังจาก “Underperform” มาตลอดทั้งปีนี้ ที่น่าสนใจคือ จากสถิติที่ผ่านมาหลายปี ตลาดหุ้นที่ “Underperform” ในปีก่อนหน้า มักกลับมา “Outperform” ในปีถัดไป

ที่ผมเป็นห่วงมากกว่า คือความยั่งยืนของการปรับขึ้นของตลาดหุ้น ลำพังนโยบายประชานิยมไม่สามารถทำให้ราคาหุ้นขึ้นได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นการใช้เงินแบบหวังผลระยะสั้น ๆ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้กลายเป็น “Trading Market” ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ และไม่ได้ขยับไปไหนไกล ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องซื้อ ๆ ขาย ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทน ส่งผลให้กองทุนระยะยาวต่างชาติทยอยหายไป และถูกทดแทนด้วยกองทุนต่างชาติประเภทเน้นเทรดดิ้งระยะสั้น

การจะดึงดูดเม็ดเงินกองทุนระยะยาวให้กลับมาได้สำเร็จ รัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นในการลงมือแกัปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับไปเติบโตได้ในระดับ 4-5% ต่อปี ในระยะยาว

”ผมเชื่อว่ารัฐบาลเข้าใจดีถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย เพราะเกือบทุกปัญหาถูกระบุอยู่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาล แต่รัฐบาลจะมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเหล่านี้หรือไม่ ยังตอบยาก เพราะหลายปัญหาต้องแก้ไขต่อเนื่อง ใช้เวลานาน มีผู้เสียประโยชน์ และไม่น่าเห็นผลทันอายุรัฐบาลชุดนี้”