เคาน์เตอร์เซอร์วิส-SCB เปิดบริการตู้ฝาก-ถอนหน้าเซเว่นฯ ฝากเหรียญได้

เคาน์เตอร์เซอร์วิส SCB ไทยพาณิชย์ ตู้ฝากถอนอัตโนมัติ

เคาน์เตอร์เซอร์วิสจับมือธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดให้บริการตู้ฝาก-ถอนอัตโนมัติหน้าสาขาเซเว่นอีเลฟเว่น ฝากเข้าบัญชี 4 แบงก์ คิดค่าธรรมเนียม 15 บาท ฝาก-ทอนเหรียญได้ สูงสุด 15 เหรียญต่อครั้ง

วันที่ 27 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เคาน์เตอร์เซอร์วิส โพสต์ผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ เปิดตัวบริการใหม่ ตู้ฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ หน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยระบุว่า ตู้ดังกล่าวให้บริการครบวงจร ทั้งการฝาก-ถอนเงินสด การโอนเงิน การสอบถามยอดเงิน การยืนยันตัวตน และบริการอื่น ๆ ทั้งการซื้อประกัน-พ.ร.บ.รถยนต์ และเติมเงินโทรศัพท์และวอลเลต

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมผ่าน เว็บไซต์ ระบุว่า บริการดังกล่าว เป็นการร่วมให้บริการระหว่างบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด และธนาคารไทยพาณิชย์ และให้บริการที่หน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น อีกทั้งยังรองรับการฝากเงินและทอนเงินด้วยเหรียญได้อีกด้วย

ขณะที่คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ข้อมูลตรงกันว่า บริการดังกล่าว คือจุดบริการฝาก-ถอนผ่านตู้ ATM/CDM ร่วมให้บริการระหว่างธนาคาร และเคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยเป็นส่วนหนึ่งของ SCB Service ซึ่งเป็นบริการตัวแทนธนาคาร หรือ Banking Agent ของ SCB

ตู้ Counter Service 7-Eleven CDM/ATM จะให้บริการฝาก ถอน โอน รับชำระบิล ผ่านตู้เคาน์เตอร์เซอร์วิส CDM/ATM โดยจุดตั้งตู้จะอยู่ที่บริเวณหน้าสาขาเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศ

ภาพจาก counterservice.co.th

สำหรับรายละเอียดการให้บริการของตู้ดังกล่าว เป็นดังนี้

ฝากเงิน

สามารถฝากเงินเข้าบัญชีได้ 4 ธนาคาร คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank)

  • วงเงินรับฝากสูงสุด 30,000 บาทต่อรายการ
  • ฝากเงินสูงสุดวันละ 99,999 บาทต่อบัญชี

โดยผู้ฝากต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ใช้เพียงบัตรประชาชนเท่านั้น และมีอัตราค่าธรรมเนียม 15 บาท/รายการ

ขณะที่ขั้นตอนการฝากเงินผ่านตู้ฝาก-ถอนอัตโนมัติหน้าเซเว่นฯ ของเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นดังนี้

  • เลือกปุ่ม “บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส”
  • เลือก “ฝากเงิน”, “ธนาคาร”
  • เสียบบัตรประชาชน
  • ใส่เงินที่ช่องรับธนบัตร
  • รับสลิปยืนยันการทำรายการ

ทั้งนี้ ค่าบริการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็น Banking Agent ผ่านตู้ดังกล่าว ถูกกว่าการทำรายการฝากเงินแบบข้ามธนาคารผ่านตู้อัตโนมัติของแต่ละธนาคาร ซึ่งจะคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 50 บาท/รายการ และคิดค่าบริการตามยอดเงินที่ฝาก ดังนี้

  • ยอดไม่เกิน 10,000 บาท ค่าธรรมเนียม 50 บาท/รายการ
  • ยอด 10,001-20,000 บาท ค่าธรรมเนียม 60 บาท/รายการ
  • ยอด 20,001-30,000 บาท ค่าธรรมเนียม 70 บาท/รายการ
  • ยอด 30,001-40,000 บาท ค่าธรรมเนียม 80 บาท/รายการ
  • ยอด 40,001-50,000 บาท ค่าธรรมเนียม 90 บาท/รายการ
  • ยอด 50,001-65,000 บาท ค่าธรรมเนียม 100 บาท/รายการ
  • ยอด 65,001-80,000 บาท ค่าธรรมเนียม 110 บาท/รายการ
  • ยอด 80,001-100,000 บาท ค่าธรรมเนียม 120 บาท/รายการ

ถอนเงิน โอนเงิน สอบถามยอดเงิน

สำหรับการถอนเงิน โอนเงิน และสอบถามยอดเงิน รองรับการใช้งานบัตรทุกธนาคาร และบัตรที่มีสัญลักษณ์เครือข่ายชั้นนำ ทั้งวีซ่า (VISA), มาสเตอร์การ์ด (Mastercard), เจซีบี (JCB), ยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay), พลัส (PLUS), ซีรัส (Cirrus) และเอทีเอ็มพูล (ATM Pool) รวมทั้งรองรับการถอนเงินแบบไม่ใช้บัตรด้วยแอป SCB EASY

สำหรับค่าธรรมเนียมบริการถอนเงิน โอนเงิน และสอบถามยอดเงิน ที่ตู้ฝาก-ถอนอัตโนมัติหน้าเซเว่นฯนั้น อัตราค่าธรรมเนียมเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารเจ้าของบัตรกำหนด

ยืนยันตัวตน

สำหรับบริการยืนยันตัวตน เคาน์เตอร์เซอร์วิส ระบุว่า รองรับบริการยืนยันตัวตนกระเป๋าเงินดิจิทัล ทรูมันนี่ วอลเล็ต เพื่ออัพเกรดเป็นบัญชีขั้นสูง โดยใช้เพียงบัตรประชาชนของผู้ทำรายการ และจะรองรับการยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชี บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้

เงื่อนไขอื่น ๆ

ตู้ฝาก-ถอนอัตโนมัติหน้าเซเว่นฯนั้น รองรับการทำรายการทั้งธนบัตรและเหรียญ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ธนบัตร

  • รับธนบัตร 100, 500 และ 1,000 บาท
  • จำนวนไม่เกิน 100 ฉบับ/รายการ

เหรียญ

  • รับเฉพาะเหรียญ 1, 5 และ 10 บาท
  • จำนวนไม่เกิน 15 เหรียญ/รายการ

แกะรายละเอียดค่าธรรมเนียม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามเพิ่มเติมกับคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับข้อมูลว่า อัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการตู้ Counter Service 7-Eleven CDM/ATM เป็นดังนี้

ฝากเงิน

ฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคารอื่น ที่ไม่ได้แต่งตั้งให้บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เป็นตัวแทนทางการเงิน (Banking Agent) (Cash ORFT)

  • จำนวนเงินฝากไม่เกิน 10,000 บาท 50 บาท/รายการ
  • จำนวนเงินฝากไม่เกิน 10,001-20,000 บาท 60 บาท/รายการ
  • จำนวนเงินฝากไม่เกิน 20,001-30,000 บาท 70 บาท/รายการ
  • จำนวนเงินฝากไม่เกิน 30,001-40,000 บาท 80 บาท/รายการ
  • จำนวนเงินฝากไม่เกิน 40,001-50,000 บาท 90 บาท/รายการ
  • จำนวนเงินฝากไม่เกิน 50,001-65,000 บาท 100 บาท/รายการ
  • จำนวนเงินฝากไม่เกิน 65,001-80,000 บาท 110 บาท/รายการ
  • จำนวนเงินฝากไม่เกิน 80,001-100,000 บาท 120 บาท/รายการ

ฝากเงินสดเข้าบัญชีเฉพาะธนาคารที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นตัวแทนทางการเงิน (Banking Agent) ผ่านเครื่องเคาน์เตอร์เซอร์วิส CDM/ATM เท่านั้น

  • ค่าธรรมเนียม 15 บาท/รายการ โดยเป็นไปตามประกาศที่แต่ละธนาคารกำหนด

ถอนเงินสดด้วยบัตรทุกธนาคาร

  • ในเขตสำนักหักบัญชีเดียวกัน ฟรี 4 รายการแรก
  • ข้ามเขตสำนักหักบัญชี 20 บาท/รายการ

ถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร (Cardless ATM)

  • ค่าธรรมเนียม 10 บาท/รายการ ทั้งในเขตสำนักหักบัญชีเดียวกัน และข้ามเขตสำนักหักบัญชี (ปัจจุบันยกเว้นค่าธรรมเนียม)

โอนเงิน

โอนเงินระหว่างบัญชีที่ผูกบัตร/โอนเงินไปยังบัญชีบุคคลอื่นที่ใช้ SCB

  • ในเขตสำนักหักบัญชีเดียวกัน ไม่มีค่าธรรมเนียม
  • ข้ามเขตสำนักหักบัญชี ค่าธรรมเนียม 20 บาท/รายการ

โอนเงินไปบัญชีธนาคารอื่น (ORFT)

  • ยอดเงินโอนไม่เกิน 10,000 บาท ค่าธรรมเนียม 25 บาท/ครั้ง
  • ยอดเงินโอนตั้งแต่ 10,001-50,000 บาท ค่าธรรมเนียม 35 บาท/ครั้ง

สอบถามยอด

  • ฟรีค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ

หากใช้งานตู้ Counter Service 7-Eleven CDM/ATM เกิน 4 รายการ (ถอนเงิน/โอนเงิน/สอบถามยอด อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกัน) ภายในเดือนเดียวกัน ค่าธรรมเนียม 10 บาท/รายการ (คิดตั้งแต่รายการที่ 5)

กรณีลูกค้าถือบัตรที่ออกโดยสถาบันการเงินในประเทศที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Nonbank) และไม่ได้อยู่ใน ATM POOL ที่มีตราสัญลักษณ์ VISA/MasterCard ค่าธรรมเนียม 20 บาท/รายการ

ค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดผ่านตู้ ATM กรณีถือบัตรธนาคารต่างประเทศ ค่าธรรมเนียม 220 บาท/รายการ

เปิดบริการแล้ว 100 ตู้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์ของเคาน์เตอร์เซอร์วิส ระบุว่า ขณะนี้มีตู้ฝาก-ถอนอัตโนมัติของเคาน์เตอร์เซอร์วิส ให้บริการหน้าสาขาเซเว่นอีเลฟเว่นแล้ว 100 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ ของเคาน์เตอร์เซอร์วิส

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเมษายน 2566 นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารรายได้จากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หลังแนวโน้มรายได้จากค่าธรรมเนียมลดลง ระบุว่า ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ มองการบริหารรายได้ค่าธรรมเนียมออกเป็น 2 แนวทาง คือ

1.พยายามให้ลูกค้าเข้ามาใช้ดิจิทัลมากที่สุด โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้ง

2.การเจรจาหาพันธมิตรซึ่งเป็นสถาบันการเงินด้วยกัน โดยจะทำงานร่วมกันเพื่อแชร์ต้นทุนร่วมกันและมีการเฉลี่ยเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการร่วมกันเป็นระบบเดียว ซึ่งดำเนินการโดยที่ไม่รอให้ครบทุกธนาคาร

อย่างไรก็ดี แนวทางสำคัญธนาคารยังคงเน้นเรื่องของการผลักดันลูกค้าเข้าสู่ดิจิทัลมากที่สุดเป็นอันดับแรก