
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ปล่อยกู้ 1,000 ล้านบาท สนับสนุนเครือโรงแรมเซ็นทารา ขยายธุรกิจโรงแรมในตลาดโลก
วันที่ 26 กันยายน 2566 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายสุภรัฐ จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา (CENTEL) ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น มัลดีฟส์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- เปิดตัว “คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท กรุงเทพฯ สุวรรณภูมิ” ห่างสนามบิน 10 นาที
พิธีลงนามดังกล่าวมีนายกีรติ คงคาทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการเงินและการบริหารทรัพย์สิน โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา และนางวรางคณา วงศ์ข้าหลวง รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เป็นสักขีพยาน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า การสนับสนุนทางการเงินในครั้งนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวเพื่อสนับสนุนเครือโรงแรมเซ็นทารา ในฐานะผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตชั้นนำระดับโลก ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักยาวนานกว่า 40 ปี โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ
รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance : ESG) สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และนโยบายของ EXIM BANK ในการดำเนินบทบาท “Green Development Bank” ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของไทยและการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
“EXIM BANK ในฐานะธนาคารเฉพาะกิจของรัฐพร้อมเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยตลอด supply chain ให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในเวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ การสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK ในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก ให้สามารถขยายการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ของธุรกิจโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมการใช้อัตลักษณ์ความเป็นไทยเป็น soft power ในการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับชุมชนสู่เวทีโลก” ดร.รักษ์กล่าว