TK ลุยธุรกิจกัมพูชา-สปป.ลาว หลัง Q2/66 ปล่อยสินเชื่อแล้ว 1.39 พันล้าน

บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK
แฟ้มภาพ

บริษัท ฐิติกร หรือ TK มั่นใจตลาดเช่าซื้อกัมพูชา-สปป.ลาวมีศักยภาพโตต่อเนื่อง หลังไตรมาส 2/66 มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.39 พันล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรวมอยู่ที่ 4.19 พันล้านบาท พร้อมลุยธุรกิจในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่อง คาดตั้งเป้าสินเชื่อโต 20% ย้ำปล่อยกู้ยังระมัดระวังภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

วันที่ 28 กันยายน 2566 นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 นี้ ตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับตลาดเช่าซื้อในต่างประเทศที่ TK ดำเนินธุรกิจอยู่ ทั้งในกัมพูชาและ สปป.ลาว ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน ควบคู่ไปกับการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจในประเทศด้วยการให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ บริหารคุณภาพลูกหนี้ในพอร์ตเช่าซื้อ คงระดับหนี้เสีย และบริหารฐานทุนให้แข็งแรง

รวมทั้งเน้นการถือเงินสดในมือรอจังหวะที่เหมาะสมในการขยายตลาด เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ระหว่างรอประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับรายละเอียดการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อ

สำหรับตลาดต่างประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 TK พอร์ตเช่าซื้อรวมทั้งจาก Suosdey Finance ในกัมพูชาและ Sabaidee Leasing ใน สปป.ลาว เติบโตรวม 16.4% จากสิ้นปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 1,399 ล้านบาท หรือเป็นสัดส่วน 33.4% ของพอร์ตเช่าซื้อรวม 4,190.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจในเมียนมาขณะนี้ บริษัทได้หยุดดำเนินการแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาซึ่งส่งผลให้ทุกอย่างชะงัก อย่างไรก็ตาม TK ยังคงมองเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในกัมพูชาและ สปป.ลาว ที่มีปัจจัยบวกด้านเศรษฐกิจโดยรวมของแต่ละประเทศขยายตัวต่อเนื่อง แต่ TK ก็ยังคงดำเนินธุรกิจในตลาดดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง พร้อมติดตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์และจัดการธุรกิจในแต่ละประเทศเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ปัจจุบัน TK มีสาขาในต่างประเทศรวม 18 สาขา ที่กัมพูชา 12 แห่ง ได้แก่ พนมเปญ เสียมเรียบ พระตะบอง สวายเรียง บันเตียเมียนเจย กำปงจาม กำปงสปือ กำโปด กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ ตาแกว และที่ สปป.ลาว 6 แห่ง

ได้แก่ เวียงจันทน์ หลวงพระบาง ปากเซ สะหวันนะเขต เชียงของ และอุดมไซ ครอบคลุมหัวเมืองและประชากรประมาณ 17.04 ล้านคน สำหรับตลาดเช่าซื้อใน 2 ประเทศดังกล่าว ปัจจุบัน ณ ไตรมาส 2/2566 มียอดสินเชื่อ 1,272 ล้านบาท และ 127 ล้านบาท ในกัมพูชาและ สปป.ลาว ตามลำดับ โดยครึ่งปีแรกมีกำไรรวม 37.8 ล้านบาท ซึ่งมาจากกัมพูชา 27.1 ล้านบาท และจาก สปป.ลาว 10.7 ล้านบาท

ด้านสถานการณ์ธุรกิจเช่าซื้อในกัมพูชาและ สปป.ลาว โดยรวมยังคงปกติและมีโอกาสเติบโต กล่าวคือ ในกัมพูชาแม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดี แต่ในระยะสั้นมีความเสี่ยงเหมือนกับไทยและ สปป.ลาว ซึ่งค่าครองชีพสูงจากค่าเงินที่อ่อนลง ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูง และราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในราคาสูง โดยเฉพาะกัมพูชาซึ่งใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศถีบตัวสูงเป็นพิเศษ ซึ่งในระยะสั้นจะส่งผลกระทบกับการบริโภคภายในประเทศพอสมควร

ส่วนตลาดเช่าซื้อใน สปป.ลาว ลูกค้ายังคงมีความสามารถในการผ่อนชำระและชำระหนี้ได้ปกติ ประกอบกับพฤติกรรมลูกค้าใน สปป.ลาว จะไม่ยอมทิ้งรถ เพราะหากลูกค้าเดิมกลับมาซื้อรถใหม่ ราคาจะเพิ่มสูงกว่าเดิมถึง 30-40% ซึ่งจะเห็นได้จากเอ็นพีแอลอยู่ที่ 1% ส่วนคุณภาพลูกค้าใหม่ค่อนข้างมีคุณภาพ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่จ่ายเงินดาวน์สูงกว่าตลาดในประเทศไทยและกัมพูชา แสดงให้เห็นว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความตั้งใจซื้อจริง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2566 นี้ ระบุเศรษฐกิจทั้งกัมพูชาและ สปป.ลาว จะมีการขยายตัว โดยเศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาดการณ์เดิม จาก 5.5% เป็น 5.9% ส่วนเศรษฐกิจ สปป.ลาว ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ 4% ปรับตัวจากคาดการณ์เดิมที่ 3% จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีน ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศของกัมพูชาทยอยปรับตัวดีขึ้นตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวและเงินเฟ้อที่ชะลอตัว โดยคาดว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะทยอยปรับตัวดีขึ้น

ด้าน สปป.ลาว ได้รับปัจจัยเอื้อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว และโครงการท่าเรือแห้งท่านาแล้ง แต่ทั้ง 2 ประเทศต่างมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือการจ้างงานในภาคการผลิตที่อาจจะชะลอตัวตามการส่งออกในกัมพูชา และภาวะเงินเฟ้อสูง หนี้สาธารณะสูง และค่าเงินกีบอ่อนต่อเนื่องใน สปป.ลาว

“การบริหารธุรกิจของในตลาดต่างประเทศ เราจะนำปัจจัยความเสี่ยงด้านต่าง ๆ มาพิจารณาและดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับแหล่งเงินทุน อัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจ การแข่งขันในตลาด และปัจจัยอื่น ๆ ที่นอกเหนือการควบคุม ตลอดการดำเนินธุรกิจของ TK เราไม่ได้ปล่อยสินเชื่อโดยไม่พิจารณาความเสี่ยง

สำหรับตลาดเช่าซื้อในกัมพูชาและ สปป.ลาว ที่ผ่านมาลูกค้ายังจ่ายเงินปกติ และธุรกิจมีกำไร ภาพรวมทุกอย่างยังไปได้ค่อนข้างดี เราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโดยรวมของทั้ง 2 ประเทศจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในขณะที่หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของเราก็คือ การถือเงินสดพร้อมไว้ เพื่อเร่งขยายธุรกิจทันทีและเติบโตตามตลาดในระยะยาว เราคาดว่าพอร์ตเช่าซื้อในต่างประเทศรวมของ TK จะเติบโต 20% ในสิ้นปี 2566 นี้” นายประพลกล่าว