ทศวรรษที่หายไป ตลาดหุ้นไทย 6 ข้อเสนอ Unlock ตลาดทุนพ้น “กับดัก”

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร

“วันนี้โจทย์ใหญ่ที่สุดคือจะเอาตลาดหุ้นไทยออกจากกับดัก 1,500 จุด ได้ยังไง ? ถ้าไม่แก้วันนี้ จะทำลายความน่าเชื่อถือของตลาดหุ้นไทย และจะทำให้คนที่ออมเงินในตลาดหุ้นโดยเฉพาะเงินบำนาญ เงินเกษียณอายุ ที่อยู่ในตลาดทุนเสียโอกาสไปมาก และถ้ารัฐบาล unlock potential ตลาดทุนให้เข้มแข็งขึ้น จะช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น”

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ฉายภาพตลาดหุ้นไทยในหัวข้อ “ฟ้าหลังฝน ฝ่าวิกฤต พิชิตโอกาส” หนึ่งในไฮไลต์เวทีสัมมนาประชาชาติธุรกิจ “ถอดรหัสลงทุน ก้าวข้ามวิกฤต” เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

“ค่าเสียโอกาส” ทศวรรษที่หายไป

“ไพบูลย์” เปิดประเด็นว่า ถ้าเราย้อนกลับไปดูอดีตเมื่อช่วง 10 ปีที่แล้ว ดัชนี SET Index วิ่งอยู่ประมาณ 1,500 จุด และทุกวันนี้ก็ยังอยู่ที่เดิม 1,500 จุด คงจะคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่า “ทศวรรษที่หายไป” นั่นเพราะเป็นช่วงเวลา 10 ปี ที่เราสูญเสียโอกาสผลตอบแทนจากการลงทุนไปพอสมควร ถามว่าเยอะแค่ไหน ถ้าเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย 10 ปี ขึ้นไป 61% ตลาดหุ้นเวียดนามขึ้นไป 175% ตลาดหุ้นแนสแดคขึ้นไป 350% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยขึ้นไปแค่ 6% เท่านั้น

“เท่ากับตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยขึ้นไปไม่ถึง 1% ต่อปี ขณะที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียขึ้นไปอย่างน้อย ๆ 6% ต่อปี เป็นประเทศที่แย่งทุนเราไปค่อนข้างเยอะในช่วงที่ผ่านมา ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามขึ้นไปกว่า 20% ต่อปี ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่น่ากลัว เพราะเป็นเสือตัวใหม่ของอาเซียน”

ถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ 10 ปีที่ตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่เคลื่อนไหวเลย เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าคู่แข่งมาก GDP ของไทยในช่วง 10 ปี เฉลี่ยออกมาโตแค่ 1.9% โตต่ำกว่าทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ทุกปี ไม่มีปีไหนเลยที่เราโตสูงกว่า เวียดนามเฉลี่ยโต 5.9% อินโดนีเซียโต 4.3% และมาเลเซียโต 4.2%

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ นักลงทุนต่างชาติโยกเงินออกไปลงทุนที่อื่น ช่วง 10 ปีพบว่าต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยออกไปกว่า 9 แสนล้านบาท แม้ว่าปีที่แล้วต่างชาติกลับเข้ามาซื้อ แต่เป็นการพักเงินระยะสั้น เพราะสุดท้ายก็ไหลออกไปอีก นั่นเพราะเรายังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติได้ เราไม่มีจุดขายที่น่าสนใจเมื่อเทียบคู่แข่ง

นอกจากนี้ เรายังซ้ำเติมตัวเองด้วยการเลิกนโยบายสนับสนุนการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น อย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่อย่างน้อยเป็นตัวสร้างเสถียรภาพให้ตลาดหุ้น ขณะที่กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ไม่เวิร์ก เพราะไม่บังคับให้ลงทุนในหุ้น ดังนั้นถ้าไปดูสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันไทย ตอนนี้ลงมาเหลือระดับ 7-8% เท่านั้น จากเคยขึ้นไปถึง 12% ในช่วงที่มี LTF ซึ่งชัดเจนว่ามีปัญหา

ทั้งหมดนี่คือปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะสามารถ “เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส” ได้หรือไม่ ผมคิดว่าทำได้ ถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโต 5% อย่างที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ แต่ขอให้ทำได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องห่วงตลาดหุ้นเพราะพร้อมที่จะวิ่งขึ้นไปแน่นอน

โจทย์ใหญ่แก้กับดัก 1,500 จุด

นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนกล่าวต่อว่า ผมไม่ห่วงแนวโน้มระยะสั้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้านี้ เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะรีบาวนด์ได้ ด้วยเหตุผลที่ดัชนี SET Index ปี 2566 ตกต่ำมากเกินไป ติดลบ 10% และ underperform ตลาดหุ้นโลกเกือบ 20%

และจะได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล มีเม็ดเงินระยะสั้นจากบรรดากองทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขาย ได้แรงส่งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน รวมถึงจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งทุก ๆ ครั้งที่เฟดมีการเปลี่ยนทิศ ส่วนใหญ่มักจะเป็น “จุดเริ่มต้นของวงจรขาขึ้นของตลาดทุน” แต่จะขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่เรื่องของวินัยการคลังเป็นสำคัญด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มระยะยาว ผมเป็นห่วง เพราะหลังจบการขึ้นรอบนี้ ยังไม่แน่ใจว่าตลาดหุ้นไทยจะกลับลงมาที่ 1,500 จุด เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาอีกหรือไม่ ดังนั้นวันนี้โจทย์ใหญ่ที่สุดคือจะเอาตลาดหุ้นไทยออกจากกับดัก 1,500 จุด ได้ยังไง เพราะเป็นกับดักที่ผมคิดว่า ถ้าไม่แก้วันนี้ มันก็อยู่ตรงนี้ไปเรื่อย ๆ และมันจะทำลายความน่าเชื่อถือของตลาดหุ้นไทย และจะทำให้คนที่ออมเงินในตลาดหุ้นโดยเฉพาะเงินบำนาญ เงินเกษียณอายุ ที่อยู่ในตลาดทุน เสียโอกาสไปมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

นโยบายรัฐบาลต้องชัดเจน

“นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี ไม่มีใครเถียง แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่หลังจากประกาศออกมาแล้ว หลายคนไม่เห็นด้วย บอกทำไปทำไมตอนนี้ อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องทำ หรือถ้าทำก็ดี แต่จะเอางบประมาณจากส่วนไหน วันนี้อยู่ในยุคความโปร่งใส แต่ถ้ายังไม่มีความชัดเจนเหล่านี้ออกมา จะสร้างความมั่นใจได้ยากมาก ๆ ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติรอกลับเข้ามา แต่เขายังขาดความชัดเจนตรงนี้ วันนี้เรียกร้องให้รัฐบาลต้องแจกแจงให้ชัดเจน อะไรที่สังคมสงสัยอยู่ ถ้ายังไม่ชี้ชัดออกมาก็แสดงว่ายังไม่ได้มีแผนในใจ”

“ไพบูลย์” สะท้อนว่า แม้รัฐบาลเริ่มงานแล้ว แต่ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ นั่นเพราะแผนยังไม่ชัดเจน เห็นได้ว่าประมาณการ GDP ของไทยปี 2567 แทบจะยังไม่มีสำนักไหนใส่นโยบายเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เข้าไปในประมาณการ นั่นเพราะยังไม่เชื่อมั่นว่าจะทำเมื่อไหร่ ทำตรงไหน และจะทำยังไง

ประเด็นสำคัญคือยังไม่สามารถดึงเม็ดเงินระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้เลย ส่วนใหญ่ที่ซื้อขายกันอยู่เป็นเม็ดเงินระยะสั้นกว่า 80% กองทุนแบบ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ที่มองการลงทุน 10-20 ปี แทบไม่เข้ามาแล้ว นั่นเพราะเขายังมองไม่เห็นศักยภาพของประเทศไทย

“วันนี้เราเข้าสู่ยุคของความยั่งยืน ไม่มีใครสนใจเหมือนในอดีตแล้ว แม้กระทั่งหุ้นรายตัว เราก็โฟกัสเรื่อง sustainability เราไม่ได้ลงทุนในบริษัทที่กำไรสูงที่สุด แต่กำไรสูงที่สุดต้องเป็น quality of earnings ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่สูงด้วย”

6 ข้อเสนอปลดล็อก “กับดัก” ตลาดทุน

ซีอีโอ บล.ทิสโก้สะท้อนมุมมองว่า ถ้ารัฐบาล unlock potential ตลาดทุนให้เข้มแข็งขึ้น ตลาดทุนจะช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยมี 6 ข้อเสนอที่ภาคธุรกิจตลาดทุนฝากเป็นโจทย์ให้กับรัฐบาล คือ 1.รัฐบาลต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัดในระยะข้างหน้า กระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่จำเป็น เน้นมาตรการสร้างรายได้และเพิ่มประสิทธิผลในระยะยาวทดแทนการใช้นโยบายประชานิยม อย่างน้อย ๆ ต้องมี message ชัดเจน ปูแผนให้เห็นเลยว่า 4 ปีจะทำอะไรบ้าง

“วันนี้เราจะได้ยินแต่ปัญหา แต่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขออกมา และจะเน้นเรื่องการพูดนโยบายประชานิยม ซึ่งก็ไม่ได้ผิด แต่มันต้องทำควบคู่กันไป”

2.รัฐบาลต้องลงมือแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจทั้งหมด เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน (household debt) ปัญหาสังคมสูงวัย (aging population) ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่ง ตอนนี้รวยกระจุกจนกระจาย ปัญหาการส่งออก “สินค้ามูลค่าเพิ่ม” ต่ำ และปัญหาการสร้างแรงงานมีฝีมือ ปัญหาต่างชาติไม่มาลงทุน อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพประเทศในระยะยาว ซึ่งทั้งหมดจะเชื่อมโยงมาถึงเรื่องความมั่นใจ

ตลาดทุนเคยมีการเสนอให้ปฏิรูประบบบำนาญหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการบังคับให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็น “ภาคบังคับ” แต่ก็ยังไม่มีการผลักดันออกมาเป็นพันธสัญญาทางการเมือง จึงเป็นหนึ่งในปัญหา เพราะระบบบำนาญของประเทศไทยอยู่อันดับสุดท้ายของโลก เพราะยังไม่พอเพียง ไม่ครอบคลุม และไม่ยั่งยืน ฉะนั้น รัฐบาลต้องตั้ง KPI ให้ชัดเจน คืออะไร ทำเมื่อไหร่ ถึงจะสร้างความมั่นใจได้

ส่วนเขตการค้าเสรี (FTA) อยากให้มีไทม์ไลน์ออกมาเลย จะไปพูดคุยกับประเทศไหน วันนี้ต้องการความโปร่งใส ไม่อย่างนั้นศักยภาพของประเทศสู้เขาไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ ตลาดหุ้นยังไม่ต้องการถึงขั้นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น แต่ขอแผนที่เป็นรูปธรรม

ใช้ “ตลาดทุน” แหล่งระดมทุนของรัฐ

ข้อเสนอที่ 3.รัฐบาลต้องใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนทางเลือกสำหรับโครงการภาครัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ในภาวะที่หนี้สาธารณะขึ้นมากว่า 60% เหมือนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัท เวลาขึ้นไปแตะ 100% หรือเกินนั้นแล้ว ต้องหันไปหาตลาดทุนแล้ว

“ต้องบอกว่าที่ผ่านมาทุกรัฐบาลใช้ประโยชน์ตลาดทุนน้อยเกินไป” ซีอีโอ บล.ทิสโก้

วันนี้ตลาดทุนพร้อมมากสำหรับการลงทุนของภาครัฐ ในอดีตรัฐบาลเคยตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ซึ่งดีมาก เพราะไม่ต้องใช้เงินกู้ ยกตัวอย่าง “สนามบิน” ที่จะสร้างใหม่ต้องใช้เงินหลายหมื่นล้าน ผมว่ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเหมาะที่สุด

“แน่นอนอาจจะทำยากกว่าการกู้ ผลตอบแทนก็ต้องให้เขามากกว่า ก็เพราะ cost of equity ตามคอนเซ็ปต์มันแพงกว่า cost of debt เพราะวันนี้หนี้สาธารณะเราสูงแล้ว ก็ต้องเริ่มมามองตลาดทุน เป็นแหล่งทุนทางเลือก หรือจริง ๆ เป็น แหล่งทุนหลักด้วยซ้ำ”

4.รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาเครื่องยนต์เศรษฐกิจชุดใหม่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสร้างจุดขายใหม่ให้ตลาดทุนไทย หรือหา new growth engine วันนี้หุ้นตัวที่เท่สุด คือ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เพราะเกี่ยวข้องภาคท่องเที่ยว ส่วนหุ้นตัวอื่น ๆ เป็น old economy

เสนอตั้งกองทุนภาษี SEF

5.รัฐบาลต้องใช้มาตรการภาษีสร้างแรงจูงใจให้คนไทยลงทุนในตลาดหุ้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อระยะยาวเข้ามาในตลาดหุ้น ยังเป็นการเพิ่มรายได้หลังเกษียณให้ผู้ออม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างวินัยการลงทุน โดยผมเสนอให้ปรับกองทุน SSF ในปัจจุบันซึ่งจะหมดอายุในปี 2567 เป็นกองทุน Sustainable Equity Fund (SEF)

โดยเป็นกองทุนหุ้นที่ลงทุนในหุ้นไทยอย่างเดียว และตีกรอบให้ลงทุนได้เฉพาะหุ้นที่ถูกคัดสรรให้อยู่ในดัชนียั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีกว่า 100 บริษัท รวมทั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และให้ขยายวงเงินเป็น 500,000 บาท หรือไม่เกิน 30% ของรายได้ประจำปี และที่สำคัญให้เป็นวงเงินเอกเทศ และต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี

“ผมว่ารัฐบาลละเลยตลาดทุนไปมาก มักจะมองว่าตลาดหุ้นเป็นของคนรวย วันนี้ตลาดทุนเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาได้ อยากให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ คือมองว่าตลาดการเงินที่มีไว้เพื่อให้ภาคธุรกิจมาระดมทุน ถ้าภาคธุรกิจจะระดมทุนได้ต้องมีสภาพคล่องเพียงพอ และคนที่เอาสภาพคล่องเข้ามาก็คือนักลงทุน ฉะนั้นอย่ามองนักลงทุนเป็นผู้ร้ายที่จะเก็บภาษีต่าง ๆ เพราะหากนักลงทุนไปลงทุนที่อื่นหมด แล้วภาคธุรกิจจะระดมทุนจากใคร”

“ไพบูลย์” อธิบายว่า วันนี้บัญชีซื้อขายหุ้นไทยมีไม่ถึง 3 ล้านคน บัญชีกองทุนรวมแค่กว่า 1 ล้านคน เพราะฉะนั้นต้องสร้างดีมานด์เพื่อทำให้ตลาดทุนมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับ และหากในอนาคตถ้ารัฐบาลอยากจะใช้ตลาดทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจจริง ผมว่าทำได้ ต้องสร้างสภาพคล่องควบคู่กันไประหว่างรอต่างชาติกลับมา ที่สำคัญต้องสร้างสภาพคล่องระยะยาวในประเทศเข้ามาก่อน

“ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น และอังกฤษ ยังสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนออมและลงทุนต่อเนื่อง โดยมีโครงการชื่อ Individual Saving Account (ISA) ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น ไม่เก็บภาษีเงินปันผล เป็นต้น ฉะนั้นเรายังจำเป็นต้องพัฒนาตลาดทุน แม้จะก่อตั้งมานาน 30-40 ปี”

เอาผิดอาชญากรตลาดทุน

และ 6.รัฐบาลต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม เพื่อเร่งรัดการลงโทษผู้กระทำความผิดในตลาดทุนให้เร็ว ถ้าทำได้ทั้งหมดนี้ ตลาดหุ้นไทยน่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้นักลงทุนไทยทุกคนได้ เพราะความน่าเชื่อถือจะกลับมาได้

“ช่วง 10 ปีที่่ผ่านมา เป็นทศวรรษที่น่าเสียดายมาก ๆ เสียโอกาสแทนคนไทยที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ผลตอบแทนไม่งอกเงย รัฐบาลสามารถทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้ โดยรัฐบาลจะต้องร่วมมือกับตลาดทุนเพื่อปลุกความเชื่อมั่นตลาดทุนขึ้นมา ผมคิดว่าจะช่วยตอบหลาย ๆ โจทย์ของประเทศที่เกิดขึ้นในวันนี้” ไพบูลย์ทิ้งท้าย