แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คลังเปิดวิธีการเข้าร่วม ยันไม่ใช่ลงทะเบียน

เงินดิจิทัลวอลเล็ต
ภาพจาก Canva

จุลพันธ์ เผยวิธีการเข้าร่วมมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยันไม่ใช่การลงทะเบียน พร้อมขยายรัศมีใช้จ่ายเลิกขีดเส้นรัศมีแค่ 4 กิโลเมตร

วันที่ 19 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เปิดเผยว่า กล่าวว่า

การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ขณะนี้ได้มีการพิจารณาในเรื่องรัศมีการใช้จ่าย 4 กิโลเมตร ว่าจะไม่มีกำหนดเช่นนั้นแล้ว แต่จะพิจารณาเป็นตำบล หรืออำเภอ หรือจังหวัด ส่วนในกรุงเทพฯ ก็จะพิจารณาเป็นแขวง หรือเป็นเขต

ขณะเดียวกันยืนยันว่าไม่มีการลงทะเบียน เพื่อพิสูจน์ใด ๆ ทั้งความจน ความรวย หรือพิสูจน์สิทธิ เพียงแต่เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่การทำโครงการลักษณะนี้จะต้องมีการ KYC (ยืนยันตัวตน) ซึ่งต้องยืนยันทั้งใบหน้า ทั้งบัตรประชาชน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการที่ผ่านมาได้มีการทำ KYC ไว้แล้ว 40 ล้านคน จึงเหลืออีกราว 10 ล้านคนที่ต้องมายืนยันตัวตน

Advertisment

“คนที่ KYC ไว้อยู่แล้ว ก็แค่กดเข้าร่วมโครงการ กดปุ่มเดียว แต่คนที่ยังไม่เคยทำเลย ยังต้องมาทำ KYC ใหม่ ทั้งใบหน้า ทั้งบัตรประชาชน ส่วนคนไม่มีสมาร์ทโฟน ก็ไปยืนยันที่แบงก์รัฐได้ อาจจะให้ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวว่า รัฐบาลมองนโยบายนี้เป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีเม็ดเงินที่มากเพียงพอเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นกลับขึ้นมาอยู่ในระดับที่เต็มศักยภาพของประเทศไทย แต่ก็มีเสียงที่เสนอว่าควรให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง หรือให้ตัดคนรวย ก็ต้องนำมาพิจารณา ขณะเดียวกันการจะเติมเงินจะแบ่งเป็นเฟส ๆ ไปหรือไม่ ก็ยังต้องพิจารณา รวมถึงแหล่งเงิน

“ก็ต้องดู คำว่ารวย คือรวยเท่าไหร่ บางส่วนงานบอกรายได้ 20,000 บาทก็รวยแล้ว เราก็บอกว่า คนชั้นกลางเองก็ลำบากมานาน ไม่ใช่เฉพาะคนที่เปราะบาง เงินตัวนี้จะสามารถไปต่อยอดการประกอบอาชีพได้ ตรงนี้ก็เป็นความคิดเห็นที่ยังแตกต่าง และต้องหาข้อสรุปในอนุกรรมการ เพื่อเสนอต่อไป” นายจุลพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ ยอมรับว่า มาตรการที่จะออกมา อาจจะแตกต่างไปจากตอนหาเสียงไว้บ้าง เนื่องจากตอนนี้รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม ก็ต้องหาจุดร่วมที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ยังตั้งเป้าที่จะเริ่มการเติมเงิน 10,000 บาท ให้ได้ในวันที่ 1 ก.ย. 2567

Advertisment

โดยจะพยายามทำตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่สุดท้ายแล้ว หากไม่ทันจริง ๆ จำเป็นต้องเลื่อน เพราะมีข้อจำกัด ที่ต้องทำระบบต่าง ๆ ให้เกิดความมั่นใจ อาทิ ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ ก็คงต้องเลื่อน และเชื่อว่านายกรัฐมนตรีก็คงไม่ติดใจ หากเลื่อนด้วยเหตุผลที่จำเป็น เช่น แอปพลิเคชั่นต้องใช้เวลาพัฒนา หรือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความมั่นคงของระบบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้แลกกับเวลาไม่ได้

ทั้งนี้ การใช้ระบบบล็อกเชน ก็จะทำให้การติดตามตรวจสอบเรื่องการทุจริต การโกงทำได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี หากมีการโกงเกิดขึ้น ก็จะมีกระบวนการดำเนินคดีด้วย

“ตอนนี้ยังไม่ได้หมายความว่าจะเลื่อน แต่ไตรมาสแรกจะพยายามทำให้ได้” นายจุลพันธ์กล่าว